โรคอันตรายที่คน "ผอม" ก็เสี่ยงได้
- โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานมีความเสี่ยงต่อการป่วยที่ทำให้เกิดโรคเรื้อรังและอาการต่างๆ แต่คนผอมก็ใช่ว่าจะสุขภาพดี ห่างไกลโรคเสมอไป ผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อยเมื่อตรวจร่างกายอาจพบว่ามีไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และกระดูกพรุนได้เช่นกัน
- ไม่ว่าจะมีรูปร่างแบบไหน การตรวจสุขภาพเพื่อค้นหาความเสี่ยงโรคและการดูแลสุขภาพองค์รวมถือเป็นเรื่องสำคัญ กรณีพบค่าสุขภาพปกติหรือแม้ผิดปกติแต่ยังไม่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ก็ควรดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานมีความเสี่ยงต่อการป่วยที่ทำให้เกิดโรคเรื้อรังและอาการต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันพอกตับ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต และโรคมะเร็งต่างๆ
แต่คนผอมก็ใช่ว่าจะสุขภาพดี ห่างไกลโรคภัยเสมอไป ผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อยเมื่อตรวจร่างกายอาจพบว่ามีไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และกระดูกพรุนได้เช่นกัน
สาเหตุของความผอม
นพ. ธเนศ สินส่งสุข แพทย์เวชศาสตร์ป้องกัน ประจำศูนย์สุขภาพ รพ. สมิติเวช สุขุมวิท ระบุว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ใช้ดัชนีมวลกาย (BMI) เป็นเกณฑ์ในการคัดกรองผู้ที่มีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน เกินเกณฑ์มาตรฐาน หรือเป็นโรคอ้วนได้ ในผู้ใหญ่ชาวเอเชียที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป หากมีค่า BMI 18.5 – 22.90 แสดงว่า น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่หากน้อยกว่า 18.5 แสดงว่า อยู่ในเกณฑ์น้ำหนักน้อยหรือผอม
ผู้มีภาวะผอม อาจมีสาเหตุแตกต่างกันไป เช่น
- พันธุกรรม บางคนมีค่าดัชนีมวลกายต่ำตามธรรมชาติ เนื่องจากลักษณะทางกายภาพภายในครอบครัว
- เมตาบอลิซึมสูง การมีระบบเผาผลาญพลังงานสูงอาจเป็นสาเหตุของความผอม
- การออกกำลังกายเป็นประจำ นักกีฬาหรือผู้ที่ทำกิจกรรมทางกายภาพในระดับสูง เช่น นักวิ่ง
- โรคทางกายหรือโรคเรื้อรัง เช่น มีความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน
- ปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล หรือโรคอะนอเร็กเซีย (anorexia) และบูลิเมีย (bulimia)
คนผอมก็เสี่ยงโรค
โรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเฉพาะในคนอ้วนเท่านั้น คนที่มีรูปร่างผอมเพรียวก็อาจตรวจพบโรคต่างๆ ได้เช่นกัน ซึ่งอาจเกิดมาจากพันธุกรรมเป็นตัวกำหนด และอาจไม่สัมพันธ์กับน้ำหนักตัวเลยก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น
ผอมแต่ ไขมันในเลือดสูง
ไขมันในร่างกายประกอบด้วย ไขมันในหลอดเลือด ไขมันใต้ชั้นผิวหนัง และไขมันในช่องท้อง ซึ่งมาจากอาหารที่รับประทานและจากที่ร่างกายสังเคราะห์ขึ้นเอง ทั้งนี้ โรคไขมันในเลือดสูง ทำให้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็ง ตีบ และอุดตัน ส่งผลให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้ เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต การมีคุณภาพชีวิตลดลง และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
แม้โรคไขมันในเลือดสูงจะพบมากในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน แต่คนผอมก็มีปัจจัยเสี่ยงได้เช่นกัน เนื่องจากคนผอมบางกลุ่มมีพันธุกรรมหรือยีนที่รับประทานอย่างไรก็ไม่อ้วนแต่ร่างกายก็ยังกักเก็บไขมันไว้ในกระแสเลือด หรืออาจเป็นกลุ่มคนผอมที่เป็นโรคไขมันในเลือดสูงจากพันธุกรรม
คนผอมก็เป็นความดันโลหิตสูงได้
ค่าความดันโลหิตปกติ ตัวบนไม่ควรเกิน 120 มม.ปรอท และตัวล่างไม่เกิน 80 มม.ปรอท สำหรับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง ค่าใหม่ อ้างอิงตามคำแนะนำจากสมาคมโรคหัวใจสหรัฐอเมริกาปี 2017 คือ 130/80 มม.ปรอทขึ้นไป ทั้งนี้ โรคความดันโลหิตสูง เป็นกลุ่มโรคที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายอื่นๆ ตามมา เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคไต เป็นต้น
ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงระยะเริ่มแรกส่วนใหญ่มักไม่มีอาการผิดปกติ แต่ตรวจพบโดยการตรวจสุขภาพประจำปี หรือเจ็บป่วยด้วยโรคอื่นๆ มาก่อน โดยมีปัจจัยเสี่ยง เช่น อายุที่มากขึ้นตั้งแต่ 40-50 ปีขึ้นไป พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยเฉพาะวัยหลังหมดประจำเดือน มีความเครียดและวิตกกังวลสูง รวมถึงมาจากพันธุกรรมมากถึง 30-40 % โดยพบว่าผู้ที่มีบิดาและมารดาเป็นโรคความดันโลหิตสูงมีโอกาสเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้มากกว่าผู้ที่บิดามารดาไม่ได้เป็นโรค
จะเห็นได้ว่าการมีค่าความดันโลหิตสูงนั้นไม่สัมพันธ์กับน้ำหนักตัวแต่อย่างใด คนอ้วนหรือผอมก็สามารถตรวจพบโรคความดันโลหิตสูงได้ ซึ่งการรักษานั้นหากปรับเรื่องการดำเนินชีวิตและอาหารแล้วยังไม่ดีขึ้น ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับยาความคุมความดันที่ถูกต้องและเหมาะสมกับตนเองมากที่สุด
คนผอมกับโรคไทรอยด์ อาการเป็นอย่างไร
ต่อมไทรอยด์ มีหน้าที่ผลิตและหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งฮอร์โมนไทรอยด์นั้นช่วยควบคุมการเผาผลาญสารอาหารในร่างกาย ระดับอุณหภูมิของร่างกาย ระดับไขมันในเลือด โดยในกรณีของผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อย อาจเกิดจากภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ (Hyperthyroid) หรือเรียกว่าภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติต่อร่างกาย
โดยแสดงอาการได้หลากหลาย เช่น ใจสั่น มือสั่น เหนื่อยง่าย น้ำหนักลด ในเพศหญิงอาจประจำเดือนมาผิดปกติ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจส่งผลกระทบต่อระบบหัวใจ รวมถึงภาวะกระดูกบาง เนื่องจากแคลเซียมในเลือดสูงกว่าปกติ จนกลายเป็นโรคกระดูกพรุนเพิ่มได้อีกด้วย สำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคไทรอยด์เป็นพิษ สามารถทำได้ด้วยการเจาะเลือดเพื่อการตรวจระดับฮอร์โมนไทรอยด์ ได้แก่ ไทรอกซีน (Thyroxine -T4) ไตรไอโอโดไธโรนีน (Triiodothyronine- T3) และแคลซิโทนิน (Calcitonin) รวมถึงการอัลตร้าซาวด์ต่อมไทรอยด์
น้ำหนักตัวน้อย อาจเกี่ยวกับความหนาแน่นของมวลกระดูก
คนที่น้ำหนักน้อยหรือผอมมักมีความเสี่ยงต่อการมีค่าความหนาแน่นของมวลกระดูกต่ำ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนตามมาได้ การวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อรู้เท่าทันและป้องกันโรคกระดูกพรุนที่อาจเกิดขึ้นได้จากการมีน้ำหนักตัวน้อย โดยผลตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก (Bone Mineral Density - BMD) มีค่าเป็น ที-สกอร์ (T-score) หากอยู่ระหว่าง -1 ถึง -2.5 แสดงว่ามีภาวะกระดูกบาง หากมีค่าต่ำกว่า -2.5 แสดงว่าเป็นโรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุน เป็นภัยเงียบที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตัวเองมีภาวะกระดูกพรุน เนื่องจากไม่มีอาการใดๆ แสดงให้เห็น จนกระทั่งล้มแล้วกระดูกหัก สาเหตุของโรคมาจากการสูญเสียมวลกระดูก ส่งผลให้กระดูกเปราะและหักง่ายกว่าคนทั่วไป เพียงหกล้มหรือมีแรงกระแทกเบาๆ ไอหรือจาม ก็อาจให้กระดูกสะโพกหรือกระดูกสันหลังหัก ทำให้พิการหรือทุพพลภาพ และมีคุณภาพชีวิตลดลงได้ ทั้งนี้ ผู้ที่มีความเสี่ยงโรคกระดูกพรุนและควรตรวจความหนาแน่นมวลกระดูกอยู่เสมอ เช่น ผู้หญิงวัยหลังหมดประจำเดือนอายุประมาณ 50 ปี และผู้ที่มีน้ำหนักน้อย คือ มีค่า BMI น้อยกว่า 20
อยากผอมแบบปลอดโรคต้องทำอย่างไร
ไม่ว่าจะมีรูปร่างแบบไหน การตรวจสุขภาพเพื่อค้นหาความเสี่ยงโรคและการดูแลสุขภาพองค์รวมถือเป็นเรื่องสำคัญ กรณีพบค่าสุขภาพปกติหรือแม้ผิดปกติแต่ยังไม่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ก็ควรดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ ซึ่งหมายถึงการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้มีคุณภาพมากขึ้น ทั้งการรับประทานอาหาร ออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงความเครียด และนอนหลับพักผ่อนให้พอเพียง โดยยึดหลัก “4อ” ดังนี้
- อาหาร – การดูแลด้านอาหารที่เฉพาะ เพื่อสุขภาพที่ดีและตรงกับเป้าหมายของตัวเองมากที่สุด รับคำแนะนำจากนักกำหนดอาหาร ที่มีประสบการณ์
- อิ่มกาย – การดูแลด้านการออกกำลังกายในแบบเฉพาะบุคคล โดยมีการประเมินก่อนการออกกำลังกายโดยแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจและด้านกีฬา มีการใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและทันสมัย อาทิเช่น เครื่อง Isokinetic รวมถึงการดูแลต่อเนื่องโดยนักเวชศาสตร์การกีฬา เพื่อสุขภาพที่ดีแบบยั่งยืน
- อิ่มอารมณ์ – การดูแลด้านอารมณ์และจิตใจโดยทีมแพทย์เฉพาะทาง เพราะเมื่อสุขภาพกายดีแล้ว ต้องไม่ลืมดูแลสุขภาพใจด้วยเช่นกัน
- อิ่มนอน – การดูแลด้านการนอนหลับ ซึ่งหากมีปัญหาเรื่องการนอนหลับ เช่น นอนไม่หลับ นอนหลับไม่มีคุณภาพ หรือนอนกรน ก็ควรได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมกับปัญหาการนอนหลับที่เผชิญอยู่ได้