Headline Stress Disorder สุขภาพจิตพังจากการเสพข่าวหดหู่มากเกินไป

Headline Stress Disorder สุขภาพจิตพังจากการเสพข่าวหดหู่มากเกินไป

Headline Stress Disorder สุขภาพจิตพังจากการเสพข่าวหดหู่มากเกินไป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เหตุบ้านการเมืองมักไม่ใช่ข่าวดี และอาจทำให้สภาพจิตใจของเราหดหู่ลงได้เรื่อยๆ ในขณะที่เรากำลังอ่านข่าวเสพข้อมูลต่างๆ มากยิ่งขึ้น แต่เข้าใจว่าจะไม่ให้ติดตามข่าวเลยก็อาจเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะหลายคนที่อาจมีความจำเป็นต้องติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดเพราะอาจเกี่ยวข้องกับหน้าที่การงาน

ข้อมูลจาก Mahidol Channel ร่วมกับ สสส. และสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย จากแคมเปญ “เรื่องของใจใครว่าไม่สำคัญ” ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ Headline Stress Disorder เอาไว้ ดังนี้ 


การติดตามข่าวสารที่ได้รับความสนใจในวงกว้าง ทำให้หลายคนเสพข่าวต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวันซึ่งอาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ โดยเฉพาะสุขภาพจิต เพราะข่าวและเนื้อหาต่างๆ ที่เผยแพร่ในสื่อและโซเชียลมีเดีย สร้างความเศร้า ความเครียดสะสมจากการเสพข่าวหดหู่มากเกินไป อาจเกิดภาวะ Headline Stress Disorder

ภาวะ Headline Stress Disorder คืออะไร

Headline stress disorder ไม่ใช่ชื่อโรค แต่เป็นคำที่ใช้เรียกภาวะเครียดหรือวิตกกังวลมากที่เกิดขึ้นจากการเสพข่าวทางสื่อต่างๆ ที่มากเกินไป 

เสพข่าวหดหู่มากไป ส่งผลเสียอย่างไรต่อร่างกายและจิตใจ

การเสพข่าวหดหู่มากไปสามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจได้มากและหลายระบบ เช่น ใจสั่น แน่นหน้าอก นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า โกรธ ซึ่งถ้าปล่อยไว้ อาจส่งผลต่อการเกิดโรคบางอย่างได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า 

ใครคือกลุ่มเสี่ยงต่อ ภาวะ Headline Stress Disorder

  • คนที่เหนื่อยล้าทั้งทางจิตใจหรือร่างกายอยู่แล้ว เช่น อาจกำลังเครียดเรื่องงาน ครอบครัว การเรียน พักผ่อนไม่เพียงพอ เจ็บป่วย อยู่นั้น อารมณ์จะอ่อนไหวง่าย เมื่อมาเสพข่าวที่หดหู่ก็จะเครียดได้ง่าย
  • คนที่มีโรควิตกกังวลหรือซึมเศร้าอยู่แล้ว จะถูกกระตุ้นได้ง่ายจากการเสพข่าวที่หดหู่
  • คนที่ใช้เวลาอยู่ในโลกออนไลน์เยอะ ก็มีโอกาสที่จะรับรู้ข่าวทั้งที่จริงและปลอม ทั้งดีและร้าย ได้เยอะ
  • คนที่ขาดวิจารณญาณในการเสพข่าว อาจจะเป็นด้วยวัย วุฒิภาวะ หรือบุคลิกภาพ มีแนวโน้มจะเชื่อพาดหัวข่าวในทันทีที่เห็นได้ง่าย

คำแนะนำในการจัดการความเครียดจากการเสพข่าวหดหู่ทั่วไปด้วยตนเอง

  1. จำกัดเวลาในการเสพข่าว เคร่งครัดกับเวลาที่กำหนดไว้
  2. หากเครียดมากอาจงดเสพข่าวหรือใช้สื่อสังคมออนไลน์ไปสักพัก
  3. อย่าเชื่อพาดหัวข่าวที่เห็นในทันที เพราะพาดหัวข่าวมักใช้คำที่กระตุ้นอารมณ์เพื่อดึงดูดให้คนสนใจ แนะนำให้อ่านรายละเอียดของข่าวด้วย
  4. ตรวจสอบข่าวก่อนจะเชื่อ อ่านข่าวจากสื่อที่เชื่อถือได้ เพราะปัจจุบันมีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์กันมาก
  5. หากเป็นข่าวด่วนอาจรอสักหน่อยให้มีข้อมูลและความจริงมากขึ้นแล้วค่อยอ่านในรายละเอียดข่าว
  6. พยายามมองหาสิ่งที่ดีในข่าวที่อ่านบ้าง ทุกอย่างมีทั้งด้านดีและร้ายเสมอ
  7. อ่านข่าวที่ดีต่อใจบ้าง อย่าเสพแต่ข่าวที่หดหู่
  8. อย่าเสพข่าวก่อนนอน เพื่อให้สมองได้พักและหลับได้ดี
  9. ทำกิจกรรมคลายเครียด ผ่อนคลายบ้าง อย่าเอาแต่ติดตามข่าวทั้งวัน
  10. พูดคุยกับคนอื่นบ้าง การหมกมุ่นกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งคนเดียวจะยิ่งทำให้จมกับความคิดลบๆ ได้ง่าย

หากทำตามคำแนะนำข้างต้นแล้วยังเครียดมากอยู่ ให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือ chatbot 1323 หรืออาจไปปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook