แพทย์เตือน PM 2.5-ปอดอักเสบเรื้อรัง เทรนด์ใหม่เพิ่มปัจจัยเสี่ยง "มะเร็งปอด"
“มะเร็งปอด” ภัยเงียบใกล้ตัวที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งสาเหตุอาจไม่ได้มาจากแค่การสูบบุหรี่ หรือผู้ที่ได้รับควันบุหรี่มือสองเท่านั้น แต่คนทุกเพศทุกวัยกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงเดียวกัน เหตุเพราะมีแนวโน้มใหม่ของปัจจัยเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศที่ย่ำแย่ด้วยปริมาณฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานและภาวะปอดอักเสบเรื้อรัง แนะนำกลุ่มเสี่ยงอายุระหว่าง 55-80 ปีทั้งที่ยังสูบบุหรี่อยู่หรือเคยสูบแต่หยุดสูบบุหรี่มาแล้ว โดยสูบบุหรี่ในปริมาณตั้งแต่วันละ 1 ซองขึ้นไป เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 20 ปี1 ควรรับการตรวจคัดกรอง หากพบแนวโน้มหรืออาการในระยะแรกจะลดโอกาสเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 20
พ.อ. ผศ. นพ. ไนยรัฐ ประสงค์สุข ผู้เชี่ยวชาญอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี หรือมีผู้ป่วยใหม่ประมาณ 23,713 รายต่อจำนวนประชากรไทยที่เป็นมะเร็งทั้งหมดจำนวน 190,636 ราย ในปี พ.ศ. 2663 และเป็นชนิดของมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งชนิดต่างๆ ที่พบในคนไทย ปัจจัยเสี่ยงหลักที่ทำให้เป็นมะเร็งปอดคือ การสูบบุหรี่ มวนยาเส้น และยาสูบประเภทต่างๆ ทั้งนี้ ผู้ที่ไม่สูบแต่ได้รับควันยาสูบเป็นประจำก็มีความเสี่ยงสูงในระดับเดียวกันกับผู้ที่สูบ จึงควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพื่อเป็นการป้องกันตนเอง สิ่งที่อยากให้คนได้ตระหนักมากขึ้นคือ ปัจจุบันนี้คนทุกเพศทุกวัยมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งปอดได้ เนื่องจากมีแนวโน้มใหม่ของปัจจัยเสี่ยงอีก 2 ประการซึ่งล้วนเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก คือ
- ปัจจัยเสี่ยงจากการอยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีสภาพภูมิอากาศเป็นมลพิษด้วยมีปริมาณฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ที่เกินค่ามาตรฐาน
- ปัจจัยเสี่ยงจากการมีภาวะปอดอักเสบเรื้อรัง ไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากการเจ็บป่วย หรือการหายใจเอาอากาศที่มีการปนเปื้อนของฝุ่นและมลพิษต่างๆ เป็นประจำทำให้เนื้อเยื่อปอดอักเสบ
“แม้ยังไม่มีตัวเลขชัดเจนว่าปัจจัยเสี่ยงใหม่นี้จะทำให้อัตราการเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นเท่าใด เนื่องจากเป็นเทรนด์ใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จึงต้องใช้เวลาศึกษาและเก็บข้อมูลต่อไปอีกอย่างน้อย 3-5 ปีจึงจะมีตัวเลขที่ยืนยันได้ แต่ก็อยากให้ทุกคนได้ตระหนักว่าเป็นแนวโน้มความเสี่ยงที่ควรให้ความสำคัญเพื่อระวังและป้องกันตัวเอง”
มะเร็งปอดยังคงเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยและมีอัตรารอดชีวิตของผู้ป่วยค่อนข้างต่ำ ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ก็เมื่อมีอาการเข้าสู่ระยะแพร่กระจายแล้ว ทำให้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา ได้มีการพัฒนานวัตกรรมการรักษาในหลายๆ ด้านทั้งวิธีการตรวจรักษาและการพัฒนายา โดยมุ่งหวังให้มีอัตรารอดชีวิตเพิ่มขึ้นในผู้ป่วยทุกระยะ แพทย์อยากเน้นย้ำให้ทุกฝ่ายได้เห็นความสำคัญของการป้องกันโรคให้มากขึ้น
แนวทางป้องกันที่ดีอีกทางหนึ่งคือ ระบบการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ บุคคลอายุ 50-80 ปี ที่สูบบุหรี่วันละซองเป็นเวลา 20 ปีขึ้นไป ซึ่งภาครัฐควรเข้ามาสนับสนุนและบริหารจัดการเรื่องสิทธิครอบคลุมการรักษาของผู้ป่วย เพื่อลดช่องว่างในการเข้าถึงนวัตกรรมการรักษาของผู้ป่วย โดยหากตรวจพบมะเร็งปอดได้ตั้งแต่ในระยะแรก จะมีโอกาสสูงมากในการรักษาให้หายและไม่กลับเป็นซ้ำ ปัจจุบันการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดใช้การเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ ซึ่งเป็นวิธีที่มีข้อมูลยืนยันทางการแพทย์ชัดเจนแล้วว่าสามารถตรวจพบมะเร็งในระยะเริ่มต้นได้ซึ่งช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปอดได้ถึงร้อยละ 20
จากการเก็บรวบรวมข้อมูลจากการศึกษาเรื่องอัตราการรอดชีวิตพบว่าการรักษาผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะที่ 1-2 จะมีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปีอยู่ที่ประมาณร้อยละ 60-80 ส่วนในระยะที่ 3 ถ้าผ่าตัดไม่ได้จะรักษาด้วยการฉายแสงร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด อัตราการรอดชีวิตใน 5 ปีจะอยู่ที่ร้อยละ 25 แต่ตอนนี้มีนวัตกรรมการรักษาที่มีประสิทธิภาพขึ้น โดยให้ยาภูมิคุ้มกันบำบัดหลังจากฉายแสงเสร็จ สามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตที่ 4 ปีได้อยู่ที่ร้อยละ 50 ซึ่งเป็นอัตราที่ดีขึ้น แต่ก็ยังเป็นความท้าทายในการรักษาต่อไป
ส่วนผู้ป่วยมะเร็งในระยะที่ 4 มีทางเลือกการรักษาโดยใช้การตรวจหายีนที่เป็นตัวก่อมะเร็งปอด ซึ่งเป็นเทคนิคการตรวจที่แม่นยำเฉพาะบุคคล เมื่อพบยีนดังกล่าว แพทย์จะให้ “ยามุ่งเป้า” เพื่อจัดการมะเร็งโดยตรง แต่ถ้าผู้ป่วยไม่สามารถใช้ยามุ่งเป้าได้ ยังมีอีกทางเลือกคือ “ยาเคมีบำบัด หรือ ยาภูมิคุ้มกันบำบัด” หรือ รักษาด้วยยาเคมีบำบัดร่วมกับยาภูมิคุ้มกันบำบัด ปัจจุบันมีการคิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการตรวจเพิ่มเติม รวมถึงการรักษาโรคมะเร็งปอดด้วยยา กลุ่มใหม่ๆ เช่น ยามุ่งเป้า หรือ ยาภูมิคุ้มกันบำบัด ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งปอดมีอัตราการรอดชีวิตที่ยาวนานขึ้น ควบคู่ไปกับการที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกด้วย