5 สาเหตุ "กระดูกสันหลังเสื่อม" ภัยร้ายคุกคามผู้สูงอายุ

5 สาเหตุ "กระดูกสันหลังเสื่อม" ภัยร้ายคุกคามผู้สูงอายุ

5 สาเหตุ "กระดูกสันหลังเสื่อม" ภัยร้ายคุกคามผู้สูงอายุ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว โรคภัยไข้เจ็บอันเนื่องมาจากความเสื่อมของร่างกายย่อมมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น “กระดูกสันหลังเสื่อม” นับเป็นโรคที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดและความทรมานในผู้สูงอายุ รวมถึงเป็นภาระให้กับผู้ดูแลอย่างมาก

ในเรื่องนี้ นพ.ศรัณย์ ก่อวุฒิกุลรังษี แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อ และกระดูกสันหลัง ศูนย์กล้ามเนื้อกระดูกและข้อ โรงพยาบาลนวเวช ได้นำชุดข้อมูลความรู้มาอธิบายให้สามารถเข้าใจได้ง่าย ผ่านบทความเรื่องโรคกระดูกสันหลังเสื่อม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่การใช้ชีวิตในสังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ 

โรคกระดูกสันหลังเสื่อมคืออะไร?

โรคกระดูกสันหลังเสื่อม คือความเสื่อมของโครงสร้างร่างกายที่ช่วยให้มนุษย์สามารถยืนหรือนั่งตัวตรงได้ ประกอบไปด้วย ปล้องกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูก ข้อต่อ เอ็นยึดข้อต่อ และกล้ามเนื้อข้างเคียง มักพบในตำแหน่งที่มีการเคลื่อนไหวเป็นประจำ เช่น กระดูกสันหลังส่วนคอ และกระดูกส่วนเอว โดยส่วนใหญ่จะพบในผู้ป่วยอายุ 40 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเราพบผู้ป่วยที่มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ เนื่องจากลักษณะการทำงานที่นั่งหรือยืนในท่าเดิมนานๆ และรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป รวมถึงไม่มีเวลาออกกำลังกายเท่าที่ควร

โครงสร้างของกระดูกสันหลัง

กระดูกสันหลัง (Spine) เป็นโครงสร้างตามธรรมชาติของร่างกายที่สร้างขึ้นเพื่อปกป้องระบบประสาทส่วนกลาง ในที่นี้คือไขสันหลัง และเส้นประสาท และในมนุษย์จะมีรูปร่างแตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่นๆ เพราะสามารถยืนตั้งตัวตรงได้ และช่วยในการเคลื่อนไหว โดยกระดูกสันหลัง ประกอบไปด้วย

  1. ปล้องกระดูกสันหลัง (Vertebra)
  2. หมอนรองกระดูกสันหลัง (Intervertebral disc)
  3. ข้อต่อระหว่างกระดูก (Facet joint)
  4. เอ็นยึดข้อต่อ (Ligament)

นอกจากนี้ ยังมีกล้ามเนื้อข้างเคียงที่ช่วยพยุงและยึดโยงกระดูกสันหลังชิ้นต่างๆ เพื่อใช้ในการเคลื่อนไหวของร่างกายอีกด้วย

สาเหตุของโรคกระดูกสันหลังเสื่อม

  1. อายุที่มากขึ้น
  2. น้ำหนักตัวที่มากเกินไป
  3. การอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ เช่น นั่งทำงาน หรือยืน
  4. การทำงานใช้งานหลังที่ไม่เหมาะสม เช่น ทำงานในท่าก้มเป็นประจำ เช่น ช่างซ่อมรถยนต์ หรือการแบกของหนักๆ เกินเกณฑ์เป็นเวลานานๆ
  5. วิถีชีวิตที่ใช้งานกระดูกคอมากขึ้น เช่น การก้มดูโทรศัพท์มือถือ การใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน

เมื่อเกิดการใช้งานซ้ำๆ เหล่านี้ หมอนรองกระดูกจะเริ่มมีร่องรอยความเสียหาย จากนั้นก็จะเริ่มมีการสูญเสียน้ำ และมีการยุบตัวลง เกิดการไม่มั่นคงของโครงสร้างเกิดขึ้น กล้ามเนื้อข้างเคียงพยายามพยุงโครงสร้างเหล่านี้ และร่างกายตอบสนองด้วยการสร้างกลุ่มกระดูกงอก เพื่อรองรับโครงสร้างที่ไม่มั่นคงดังกล่าว ผู้ป่วยจะเริ่มปวดเมื่อมีการคลอนของโครงสร้างเกิดขึ้น ถ้าหมอนรองกระดูกที่ยุบและกลุ่มกระดูกที่งอกนี้ไปกดเส้นประสาทข้างเคียงก็จะทำให้เกิดอาการทางระบบประสาท

อาการของโรคกระดูกสันหลังเสื่อม

อาการของโรคกระดูกสันหลังเสื่อม แบ่งได้ 2 กลุ่มใหญ่ๆ ก็คือ

  1. อาการที่เกี่ยวกับระบบโครงสร้าง ได้แก่ อาการปวดคอ อาการปวดหลัง มักจะเป็นๆ หายๆ อาจปวดเวลานั่งนานๆ หรือปวดเวลาขยับตัว หากผู้ป่วยที่มีอาการปวดคอ ก็อาจจะมีอาการปวดร้าวไปที่ท้ายทอย หรือบริเวณไหล่ได้ ผู้ป่วยบางรายที่มีการแข็งตัวของกระดูกสันหลัง ก็จะเกิดการก้มเงยได้ลำบาก ขยับตัวได้ลำบาก
  2. อาการที่เกี่ยวกับระบบประสาท ซึ่งเกิดจากโครงสร้างของกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาทหรือไขสันหลัง ได้แก่ การปวดร้าวไปที่แขนหรือขา อาจมีอาการชา หรือการอ่อนแรงร่วมด้วย ซึ่งอาการจะเป็นข้างเดียว หรือเป็นทั้งสองข้างก็ได้ อาการทางระบบประสาทก็จะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของรอยโรคที่เกิดขึ้น ผู้ป่วยที่มีไขสันหลังถูกกดทับ นอกจากอ่อนแรงแล้ว ก็อาจมีอาการเดินลำบาก การใช้มือหยิบจับของได้ไม่ถนัด หรือมีการกลั้นปัสสาวะและอุจจาระไม่ได้

การวินิจฉัยโรคกระดูกสันหลังเสื่อม

หลังจากแพทย์ซักประวัติอาการปวด ลักษณะการใช้งาน และประวัติอื่นๆ และตรวจร่างกาย ทั้งการเคลื่อนไหวกระดูกและข้อ และระบบประสาทแล้ว แพทย์จะส่งทำเอกซเรย์กระดูกสันหลังส่วนที่เกี่ยวข้อง หากได้ข้อมูลไม่ชัดเจน จำเป็นต้องทำ MRI เพื่อดูลักษณะของโครงสร้างที่เราสงสัย นอกจากนี้ อาจจำเป็นต้องตรวจการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อด้วยกระแสไฟฟ้า (EMG) ในผู้ป่วยบางราย สำหรับการเจาะเลือดเพื่อดูค่าผลเลือดที่เกี่ยวข้องนั้นจะทำในกรณีที่ต้องการวินิจฉัยแยกโรคอื่นที่มีอาการคล้ายกัน

การรักษาโรคกระดูกสันหลังเสื่อม

  1. การรักษาแบบอนุรักษ์

- การให้ยาลดปวดหรือยาต้านอักเสบ

- การให้ยาลดปวดเส้นประสาท

- การทำกายภาพบำบัด เช่น การใช้ความร้อน การดึงหลังหรือคอ

- การฉีดยาสเตียรอยด์ เพื่อลดปวดตามข้อบ่งชี้

  1. การรักษาโดยการผ่าตัด

รูปแบบการผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับลักษณะของรอยโรคที่ผู้ป่วยเป็น เช่น การผ่าตัดเพื่อยกจุดกดทับ หรือการผ่าตัดเพื่อเสริมความมั่นคง โดยการใส่เหล็กดาม

การป้องกันโรคกระดูกสันหลังเสื่อม

  1. การใช้งานหลังให้ถูกวิธี เช่น เวลาเรานั่ง เราควรจะต้องตัวตรง หลังชิดกับพนักพิง อาจจะมีหมอนเล็กๆ รองที่บริเวณหลังกับพนักพิง สำหรับเก้าอี้ที่ดี พนักพิงควรจะสูงถึงบริเวณไหล่ ส่วนเรื่องคอ บางครั้งเราก็จะเผลอในการที่จะก้มคอดูโทรศัพท์ หรืออ่านหนังสือ หรือดูจอโน๊ตบุ๊ค เราจะต้องคอยรู้ตัวตลอดเวลา ว่าคอเราควรจะตั้งตรง ตามองตรง และมองสิ่งที่เราจะมองลงไปประมาณ 15-20 องศา ก็จะช่วยทำให้อาการปวดคอลดลงได้
  2. ไม่ควรใช้หลังในท่าเดิมๆ นานเกินไป ควรหยุดพักยืดเส้นยืดสาย เช่น การนั่งเกิน 45 นาที ควรมีเวลาพักเปลี่ยนอิริยาบถประมาณ 10-15 นาที
  3. ออกกำลังกายเพื่อเสริมความแข็งแรง และเสริมความยืดหยุ่น เช่น การฝึกเกร็งหน้าท้องและกล้ามเนื้อหลัง ทั้งในเวลาที่มีการใช้งาน หรือจัดเวลาการออกกำลังกายเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อกลางลำตัว เช่น Planking จากนี้ต้องมีการออกกำลังเพื่อเสริมความยืดหยุ่นให้กับร่างกายด้วย
  4. ลดการใช้งานหลังที่ไม่เหมาะสม งดการยกของหนัก หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงบาดเจ็บที่บริเวณหลัง
  5. การควบคุมน้ำหนักไม่ให้มากเกินเกณฑ์
  6. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook