สธ. เสนอใช้ "ส้วมนั่งราบ"ป้องกัน "ข้อเข่าเสื่อม"
กระทรวงสาธารณสุข เผยแผนแม่บทเรื่องส้วมสาธารณะของกระทรวงสาธารณสุข เสนอให้ใช้ส้วมนั่งราบ เพื่อป้องกันข้อเข่าเสื่อม ส่วนพระราชกฤษฎีกาควบคุมมาตรฐานการผลิตโถส้วมนั่งราบเซรามิกของกระทรวงอุตสาหกรรม ช่วยให้คนไทยได้ใช้ส้วมที่ทำมาจากวัสดุที่มีมาตรฐาน เนื่องเซรามิกมีความทนทาน ผิวเรียบ ทำความสะอาดง่าย สิ่งสกปรกเชื้อโรคไม่ฝังในพื้นผิว ไม่ได้ยกเลิกส้วมซึมนั่งยอง
นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีมีสื่อนำเสนอข้อมูลเรื่องพระราชกฤษฎีกา ที่ต้องเปลี่ยนจากส้วมซึมนั่งยองเป็นโถส้วมนั่งราบ ทำให้ต้องยกเลิกการใช้ส้วมนั่งยองนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวคือ “พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2556” โดยมาตรา 3 ระบุ ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เลขที่ มอก.792 - 2554 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 4380 (พ.ศ. 2554) โดยมีหมายเหตุว่า เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและอนามัยของประชาชนได้ หากมีคุณภาพต่ำ จึงจำเป็นต้องควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและเพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจเกิดแก่ประชาชน
ทั้งนี้ เรื่องนี้สืบเนื่องจากแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 3 พ.ศ. 2556–2559 สาระสำคัญ คือ พัฒนาส้วมครัวเรือนให้เหมาะสมในการรองรับต่อการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คือ ป้องกันโรคข้อเสื่อม เพื่อให้ประเทศมีส้วมสาธารณะได้มาตรฐาน สะอาด เพียงพอ ปลอดภัย เพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีพฤติกรรมการใช้ส้วมสาธารณะที่ถูกสุขลักษณะ ส่งเสริมให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการสิ่งปฏิกูลอย่างถูกหลักสุขาภิบาล โดยตั้งเป้าภายในปี 2559 ให้ครัวเรือนไทยใช้ส้วมแบบส้วมนั่งราบร้อยละ 90 สถานบริการสาธารณะและสถานที่สาธารณะมีบริการส้วมนั่งราบอย่างน้อย 1 ที่ ประเทศไทยมีส้วมสาธารณะที่สะอาด เพียงพอ ปลอดภัย ร้อยละ 90 ของกลุ่มเป้าหมาย คนไทยมีพฤติกรรมการใช้ส้วมสาธารณะถูกสุขลักษณะร้อยละ 90 ของผู้ใช้บริการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการจัดการสิ่งปฏิกูลอย่างถูกหลักสุขาภิบาล ร้อยละ 50 ของส้วมในที่สาธารณะ ได้แก่ แหล่งท่องเที่ยว ร้านจำหน่ายอาหาร ตลาดสด สถานีขนส่งทางบกและทางอากาศ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง สถานศึกษา โรงพยาบาล สถานที่ราชการ สวนสาธารณะ ศาสนสถาน ส้วมสาธารณะ ริมทาง และ ห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้า เป็นต้น
ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
ภาพประกอบจาก istockphoto