อันตรายจากการกิน “บอแรกซ์”

อันตรายจากการกิน “บอแรกซ์”

อันตรายจากการกิน “บอแรกซ์”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผู้เชี่ยวชาญแนะ บอแรกซ์ อันตรายต่อสุขภาพ หลังมีกระแสแนะนำให้กินกันมากขึ้นในโลกออนไลน์ คนที่กินบอแรกซ์อาจมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เป็นพิษต่อไตและสมอง ขึ้นอยู่กับปริมาณที่กิน

ในโลกออนไลน์มีการชักชวนให้บริโภค “บอแรกซ์” โดยอ้างสรรพคุณว่าช่วยกระตุ้นฮอร์โมนทางเพศ และดีต่อสุขภาพ แต่ในทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์แล้ว บอแรกซ์เป็นสิ่งให้โทษต่อร่างกาย

ข้อมูลจาก เพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์  ของ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเพจ หมอแล็บแพนด้า ต่างก็ระบุว่า บอแรกซ์เป็นสารเคมีที่ไม่ควรนำมาบริโภคมากเกินไป หรือต่อเนื่องยาวนานเกินไป และไม่ควรจะมุ่งเน้นบริโภคในเชิงเป็นอาหารเสริม เพื่อสุขภาพแต่อย่างใด

บอแรกซ์ คืออะไร

บอแรกซ์ ชื่อว่า โซเดียมโบเรท (Sodium Borate) หรือที่เราเรียกกันว่าผงกรอบหรือน้ำประสานทอง เป็นสารเคมีที่มีลักษณะเป็นผงสีขาว ไม่มีกลิ่น มีรสขมเล็กน้อย มีชื่ออื่นๆ อีก เช่น น้ำประสานทอง สารข้าวตอก ผงกันบูด เพ่งแซ เม่งแซ ผงเนื้อนิ่ม

บอแรกซ์ เป็นสารที่ใช้ในอุตสาหกรรม เช่น ใช้ทำแก้วเพื่อทำให้ทนความร้อน เป็นสารประสานในการเชื่อมทอง และเป็นสารยับยั้งการเจริญของเชื้อราในแป้งทาตัว เป็นต้น

อันตรายของบอแรกซ์

มีการนำบอแรกซ์มาใช้ผิดวัตถุประสงค์โดยนำมาผสมในอาหาร เพื่อให้อาหารมีความหยุ่นกรอบ คงตัวได้นาน ไม่บูดเสียง่าย อาหารที่มักพบว่ามีสารบอแรกซ์ ได้แก่ หมูบด ลูกชิ้น ทอดมัน หมูสด เนื้อสด ไส้กรอก ผลไม้ดอง ทับทิมกรอบ ลอดช่อง เป็นต้น

บอแรกซ์ เป็นอันตรายในอาหาร (food hazard) ประเภทอันตรายทางเคมี (chemical hazard) เป็นสารเคมีห้ามใช้ในอาหาร (prohibit substances) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 151 (พ.ศ. 2536) เรื่องวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหาร

พิษของสารบอแรกซ์ เกิดได้สองกรณี คือ 

  • พิษแบบเฉียบพลัน จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ผู้ใหญ่ ได้รับสารบอแรกซ์ 15 กรัม และ เด็ก ได้รับ 5 กรัม จะทำให้อาเจียนเป็นเลือดและถึงแก่ชีวิตได้ ภายใน 3-4 ชม.
  • พิษแบบเรื้อรัง จะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ผิวหนังแห้ง หน้าตาบวม เยื่อตาอักเสบ และตับไตอักเสบ

ความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้น ขึ้นอยู่กับปริมาณที่กินเข้าไปในร่างกาย

บอแรกซ์ มีประโยชน์หรือไม่

จากที่มีการอ้างสรรพคุณของบอแรกซ์ว่าใช้ผสมกับสารเคมีตัวอื่นๆ เพื่อใช้ผลิตยาหยอดตา รวมถึงยาลดอาการปวดบวม ซึ่งล้วนแต่ใช้ภายนอกร่างกาย แต่ขณะเดียวกัน หลายข้อที่อ้างว่ากินบอแรกซ์แล้วได้ประโยชน์นั้น (เช่น ป้องกันโรคไขข้อ แก้ปัญหาฮอร์โมนเพศ) ทาง Lybrate เพจสุขภาพของอินเดีย อ้างอิงจากตำรายาจีน และตำรายาอินเดียโบราณที่ชื่อว่า คัมภีร์อายุรเวท AYURVEDA โดยอ้างถึงบทความเรื่อง Utilization of Borax In The PharmaceuticoTherapeutics of Ayurveda in India ตีพิมพ์ในวารสาร Indian Journal of History of Science (วารสารประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ของอินเดีย) ซึ่งบทความนี้เรียบเรียงเรื่องการนำเอาบอแรกซ์มาใช้ในสมัยอินเดียโบราณกว่า 5 พันปีก่อนไม่ใช่เรื่องของการพิสูจน์ยืนยันแล้วว่าสามารถนำมาใช้ได้ผลจริง ด้วยหลักฐานทางการแพทย์ในปัจจุบัน

ในขณะที่ เนื้อหาบทความส่วนที่พูดถึงเรื่องผลข้างเคียงและอาการแพ้ของบอแรกซ์นั้น ทางเพจได้อ้างถึงบทความเรื่อง Toxicologic studies on borax and boric acid. จากวารสาร Toxicology and applied pharmacology ซึ่งเป็นวารสารทางวิทยาศาสตร์ด้านพิษวิทยาและเภสัชศาสตร์ ที่มีความน่าเชื่อถือใช้ได้ และก็ตรงกับองค์ความรู้ทั่วไปในปัจจุบันที่เรามี ว่าบอแรกซ์มีอันตรายอย่างไรบ้าง

ซึ่งทางเพจ Lybrate เอง ก็สรุปเนื้อหาเกี่ยวกับผลข้างเคียงของบอแรกซ์ไว้ว่า "โดยทั่วไปแล้วไม่แนะนำให้บริโภคบอแรกซ์เข้าไป แล้วการใช้ภายนอกนั้น ก็ทำให้เกิดความระคายเคืองต่อผิวได้เพราะมันมีความเป็นด่างสูง ยังมีรายงานอีกด้วยถึงผลลบต่อระบบสืบพันธุ์และการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ และยังไม่แนะนำให้ใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานานอีกด้วย เพราะมันเป็นไปได้ที่จะทำให้ไตทำงานผิดปรกติจากการที่บอแรกซ์สะสมในร่างกาย พิษของบอแรกซ์ยังสามารถทำให้เกิดความอ่อนล้าและอาเจียน ฯลฯ”

ดังนั้น โดยรวมแล้ว การกล่าวอ้างว่าบอแรกซ์มีประโยชน์ต่อสุขภาพจนเอามาเป็นกระแสความเชื่อกันนั้น ส่วนใหญ่ก็คืออ้างตามศาสตร์การแพทย์อินเดียโบราณ ไม่ใช่แนวทางการใช้เป็นยา ตามความรู้ทางการแพทย์ของเราในปัจจุบันแต่อย่างไร และยังเสี่ยงมีผลข้างเคียงต่อสุขภาพด้วยซ้ำ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook