ทำอย่างไรเมื่อ “เด็ก” มีพฤติกรรมใช้ “คำหยาบคาย” ในโลกออนไลน์
สังคมออนไลน์มีบทบาทในชีวิตของเราทุกคน ทุกเพศ ทุกวัยกันมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังปัญหาโควิด-19 ที่ทำให้เด็กๆ ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและโลกออนไลน์ในการเรียนเป็นหลัก การงดไม่ให้เด็กมีชีวิตในโลกออนไลน์อาจไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ในยุคปัจจุบัน เพราะไม่อาจปฏิเสธได้ว่าโลกออนไลน์ก็ยังมีประโยชน์มากพอที่พวกเขาจะสามารถตักตวงหาความรู้เพิ่มเติมได้อย่างอิสระ แต่หากพฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์ที่ทำให้พวกเขาใช้คำหยาบคายทั้งกับเพื่อนฝูงหรือที่แย่ไปกว่านั้นคือการคอมเมนต์กับคนแปลกหน้า อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองเป็นกังวลอยู่ไม่น้อย
ศ. นพ.วีระศักดิ์ ชลไชยะ แพทย์จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุถึงสาเหตุพฤติกรรมการใช้วาจาหยาบคายในโลกออนไลน์ของเด็กๆ เอาไว้ ดังนี้
ทำไมเด็กๆ ถึงใช้คำหยาบในสื่อออนไลน์
- การเลียนแบบจากเพื่อนหรืออินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ในสื่อออนไลน์
- เด็กมองว่าการใช้คำหยาบคายระหว่างเพื่อนไม่ได้เป็นเรื่องผิด
- เด็กรู้สึกเป็นที่ยอมรับเมื่อสบถหรือใช้คำหยาบเหมือนกัน
คำแนะนำจากแพทย์ ทำอย่างไรเมื่อเด็กมีพฤติกรรมใช้คำหยาบคายในโลกออนไลน์
- พ่อแม่ควรเข้าใจว่าการใช้คำหยาบคายเป็นพฤติกรรมตามวัยที่เด็กอาจเลียนแบบจากเพื่อนหรืออินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ในสื่อออนไลน์
- หาโอกาสพูดคุยกับเด็กถึงข้อดีและข้อเสียของการใช้คำหยาบคาย และชี้แนะให้เด็กเข้าใจว่าเขาสามารถเป็นที่ยอมรับของผู้อื่นได้แม้ไม่ใช้คำหยาบคาย
- สมาชิกในครอบครัวควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้คำพูดที่เหมาะสมในบริบทต่าง ๆ
- พ่อแม่ควรชื่นชมเมื่อลูกใช้คำพูดเหมาะสมโดยไม่ใช้คำหยาบคายเมื่อใช้สื่อออนไลน์
- ลดการใช้สื่อออนไลน์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมกับวัย โดยเฉพาะที่มีความรุนแรงและใช้คำหยาบ
- แนะนำสื่อออนไลน์ที่มีอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ที่ใช้คำพูดเหมาะสม
- หลีกเลี่ยงการโพสต์ข้อความหยาบคายเมื่อเด็กโกรธหรือไม่พอใจและอธิบายให้เด็กเข้าใจว่าข้อความเหล่านั้นมักจะคงอยู่ในโลกออนไลน์จนอาจส่งผลเสียต่อเด็กได้ในอนาคต