“ดื่มน้ำ” อย่างไร ให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

“ดื่มน้ำ” อย่างไร ให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

“ดื่มน้ำ” อย่างไร ให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว” ทฤษฎีนี้ยังใช้ได้อยู่หรือไม่ แล้วถ้าเราลืมนับจำนวนแก้ว เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราดื่มน้ำพอแล้วหรือยัง

การดื่มน้ำ ดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ไม่เห็นจะต้องมานั่งพูดนั่งย้ำกันบ่อยๆ แต่ทราบหรือไม่ว่าหลายคนมีปัญหา “ลืมดื่มน้ำ” ระหว่างวัน อาจจะติดเรียนยาว ทำงานยาว ไม่ได้ลุกไปไหน หรือวิ่งวุ่นมากๆ จนลืมดื่มน้ำ แม้กระทั่งลืมว่าตัวเองหิวน้ำ และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ร่างกายได้รับน้ำไม่เพียงพอ

เกิดอะไรขึ้น เมื่อเราดื่มน้ำไม่เพียงพอ

  • ระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกายและสมองทำงานแย่ลง
  • ร่างกายไม่สามารถขนส่งสารอาหารไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ดีเช่นเดิม
  • ผิวแห้ง หยาบ กร้าน ขาดความชุ่มชื้น มีริ้วรอยได้ง่าย
  • ร่างกายเคลื่อนไหวได้แย่ลง เนื่องจากขาดน้ำไปช่วยหล่อลื่นข้อต่อ และการทำงานของกล้ามเนื้อมีประสิทธิภาพแย่ลงตามไปด้วย
  • เพิ่มความเสี่ยงอาการท้องผูก

และอื่นๆ อีกมากมาย

ดื่มน้ำอย่างไรให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

ร่างกายมีน้ำเป็นส่วนประกอบประมาณ 60% ของน้ำหนักตัว ซึ่งเป็นองค์ประกอบของเลือด อวัยวะ กล้ามเนื้อ ผิวหนัง และสมอง ในหนึ่งวัน เราจึงควรดื่มน้ำให้เพียงพอประมาณ 2 ลิตร หรือ 6-8 แก้ว แต่ถ้าออกกำลังกาย มีไข้ ท้องเสีย หรืออาเจียน ควรดื่มน้ำเพิ่มขึ้น 

หากลืมว่าวันนี้ดื่มน้ำไปกี่แก้วแล้ว เพียงพอแล้วหรือยัง สามารถสังเกตได้จาก “สีของปัสสาวะ” ระหว่างวัน ว่าเป็นสีเหลืองเข้ม มีกลิ่นฉุนจัดหรือไม่ ถ้าใช่ ให้ดื่มน้ำเพิ่มทันที ปัสสาวะของคนที่ดื่มน้ำเพียงพอมักจะเป็นสีเหลืองอ่อนและมีกลิ่นฉุนไม่มาก (ในกรณีที่ไม่ได้เป็นโรคอะไร)

นอกจากนี้ จำนวนครั้งในการปัสสาวะก็สำคัญ ตามปกติแล้วควรปัสสาวะทุก 3-4 ชั่วโมง หรือวันละ 4-8 ครั้ง หากปัสสาวะน้อยครั้งมากเกินไป กล่าวคือ เกิน 4-5 ชั่วโมงแล้วยังไม่ปัสสาวะ หรือปัสสาวะน้อยกว่า 4 ครั้งต่อวัน เราอาจดื่มน้ำน้อยเกินไป

ดื่มน้ำอย่างไรให้ได้ประโยชน์ต่อร่างกายสูงสุด

  • ดื่มน้ำเปล่าที่สะอาด ปราศจากสารเจือปน
  • ดื่มน้ำโดยการจิบทีละน้อยตลอดทั้งวัน ไม่ควรดื่มน้ำทีเดียวครั้งละมากๆ
  • ระวังการดื่มครั้งเดียวในปริมาณมาก เพราะจะทำให้ไตทำงานหนักขึ้น เลือดเจือจาง หรือปริมาณน้ำในเซลล์มากจนเกิดอาการบวมน้ำ อาจเกิดพิษต่อเซลล์ วิงเวียนหรือปวดศีรษะ เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำอย่างรวดเร็ว เพราะจะมีผลกระทบต่อการทำงานและการสูบฉีดของหัวใจ
  • ถ้าดื่มน้ำจากขวดน้ำที่ใช้เติมน้ำเป็นประจำ รวมถึงแก้วน้ำ อย่าลืมหมั่นล้างเป็นประจำ เพื่อป้องกันเชื้อโรคหรือแบคทีเรียสะสม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook