ไขข้อสงสัย “แซลมอน” จากฟาร์ม อันตรายกว่าแซลมอนธรรมชาติ จริงหรือไม่?

ไขข้อสงสัย “แซลมอน” จากฟาร์ม อันตรายกว่าแซลมอนธรรมชาติ จริงหรือไม่?

ไขข้อสงสัย “แซลมอน” จากฟาร์ม อันตรายกว่าแซลมอนธรรมชาติ จริงหรือไม่?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แซลมอนเลี้ยงในฟาร์ม กับแซลมอนที่จับจากแหล่งน้ำธรรมชาติ แตกต่างกันอย่างไร จริงหรือไม่ที่แซลมอนเลี้ยงในฟาร์มอันตรายต่อสุขภาพมากกว่า

แซลมอนเลี้ยง ปลอดภัยหรือไม่?

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ระบุว่า เนื้อปลาแซลมอนที่มาจากฟาร์มเลี้ยง มีมาตรฐานการผลิตนั้นสูงมาก และมีความปลอดภัยต่อการบริโภค ไม่แพ้ปลาแซลมอนที่ไล่จับจากธรรมชาติ (เผลอๆ จะปลอดภัยกว่าด้วยซ้ำ)

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะการเพาะเลี้ยงปลาแซลมอนนั้น มีในหลายประเทศทางยุโรปเหนือ ซึ่งมีมาตรฐานการควบคุมการเลี้ยงตามกฎของอียูให้ออกมาใกล้เคียงกับธรรมชาติ ถูกตรวจสอบตามขั้นตอนของกฎอียูทุกๆ อย่าง รวมถึงการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะและสารเคมีต่างๆ ด้วย

ข้อดีของการเพาะเลี้ยง ก็คือลดการทำลายพันธุ์ปลาแซลมอนตามธรรมชาติ ที่นับวันจะมีจำนวนประชากรน้อยลงเรื่อยๆ ถ้ายังนิยมบริโภคกันขนาดนี้ และอาหารที่ใช้เลี้ยงปลาแซลมอน ก็คล้ายๆ กับอาหารสัตว์น้ำอื่นๆ ไม่ได้ใส่สารอะไรที่อันตราย แต่เป็นสารอาหารต่างๆ ตามที่ปลาควรจะได้รับ

แซลมอนเลี้ยง ย้อมสี?

เนื้อปลาแซลมอนจากฟาร์มไม่ได้เป็นสีเทาอย่างในรูป และที่เราซื้อหากันแล้วเห็นเป็นสีส้มนั้น ก็เป็นเพราะสารอาหารที่ผสมลงไปในอาหารปลา ที่ช่วยให้เนื้อปลาสีส้มเข้มขึ้น ไม่ใช่เพราะเอาเนื้อปลาไปย้อมสี ให้นึกภาพถึงอาหารเลี้ยงไก่ ที่ผสมสารอาหาร แล้วทำให้ไข่ของไก่มีไข่แดงที่สีเข้มขึ้น แต่ยังบริโภคได้โดยปลอดภัย

กรณีของสาร แอสตาแซนทิน astaxanthin และ แคนทาแซนทิน canthaxanthin ที่พูดถึงนั้น ก็เป็นกลุ่มสารต้านอนุมูลอิสระ พวกแคโรทีนอยด์ อย่างที่เรากินในอย่างที่เรากินในแครอท ฟักทอง สารพวกนี้สกัดมาจากสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในธรรมชาติ (สาหร่าย ยีสต์ เปลือกกุ้งปู) ช่วยทำให้เนื้อของปลามีสีส้มมากขึ้น และไม่ได้ก่อมะเร็ง หรือเป็นอันตรายต่อการบริโภค (จริงๆ สารพวกนี้ก็มีการเอาทำเป็นอาหารเสริมขายกันด้วยซ้ำ)

ปลาแซลมอนเลี้ยง กินบ่อยๆ อันตรายหรือไม่?

ในด้านความปลอดภัยต่อการบริโภคนั้น ก็จะมีองค์กรด้านคุ้มครองผู้บริโภคที่คอยตรวจสอบอยู่ อย่างเช่นในประเทศนอร์เวย์ก็จะมี คณะกรรมการวิทยาศาสตร์เพื่อความปลอดภัยทางอาหาร Norway's Scientific Committee for Food Safety (VKM) ที่คอยตรวจสอบความปลอดภัยของเนื้อปลาแซลมอนฟาร์ม และเคยรายงานว่า สารเคมีอย่าง พีซีบี PCB และ ไดออกซิน dioxin รวมถึงปริมาณของปรอท มีอยู่น้อยมาก เพราะปลาแซลมอนในฟาร์มเลี้ยงจะกินอาหารที่ผลิตขึ้นมาโดยเฉพาะ มีส่วนประกอบเป็นโปรตีนและน้ำมันจากพืช ทำให้ลดการนำเอาใช้ปลาเล็กน้อยตามธรรมชาติมาเป็นอาหาร (ซึ่งปลาตามธรรมชาตินี้ กลับเป็นที่มาของสารพิษสะสมไว้ในตัว)

ผลการตรวจของ VKM ยังระบุว่า เราสามารถกินปลาแซลมอนฟาร์ม ได้มากถึงสัปดาห์ละกิโล โดยไม่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ และยังแนะนำด้วยว่า จริงๆ แล้ว คนทั่วไปก็ควรจะกินปลาประมาณ 300 ถึง 450 กรัมต่อสัปดาห์ด้วยซ้ำ และแม้แต่ผู้หญิงท้อง ก็ทานได้

แซลมอนเลี้ยง อาจปลอดภัยกว่าแซลมอนธรรมชาติ

ปลาแซลมอนที่จับจากธรรมชาตินั้น ยังมีความเสี่ยงในการพบพยาธิ "อะนิซาคิส" (Anisakis) อยู่ในเนื้อปลา มากกว่าปลาแซลมอนจากฟาร์มเลี้ยงที่ควบคุมความสะอาดของอาหารปลา

พยาธิตัวกลมอานิซาคิสนี้ ซึ่งไม่ใช่พยาธิที่จะมาวางไข่เพิ่มจำนวนในร่างกายเรา แต่ก่อให้เกิดอาการปวดท้องรุนแรงได้ โดยมันมีสัตว์เจ้าบ้านเป็นพวกโลมา วาฬ แมวน้ำ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่อาศัยในทะเล ทำให้ปลาแซลมอนแถบขั้วโลกเหนือ อย่างในอลาสก้า มีพยาธินี้แพร่กระจายเยอะ

ขณะที่ปลาแซลมอนที่เรานำเข้ามานั้น มักมาจากประเทศนอร์เวย์ และประเทศอื่นๆ ในแถวทะเลเหนือ ซึ่งมีพยาธินี้ระบาดน้อยกว่ามาก เพราะไม่ค่อยมีโฮสต์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในทะเลแถวนั้นมากนัก และปลาแซลมอนจากฟาร์มเลี้ยง ก็จะกินอาหารที่ผ่านการฆ่าเชื้อโรคแล้ว ไม่ได้จะมีไข่หรือตัวอ่อนพยาธิปนเปื้อนมาด้วย

อย่างไรก็ตาม ปกติปลาแซลมอนที่เรากินกัน ก็มักจะผ่านการแช่แข็งระหว่างที่เดินทางมาเป็นเวลานานแล้ว ทำให้ถึงมีพยาธิติดมา ก็จะตายหมดแน่ๆ จึงไม่มีประเด็นต้องกังวลเรื่องนี้ (ถ้าจะกังวล ก็เป็นเรื่องความสะอาด เรื่องเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อน ของร้านที่ทำขายมากกว่า)

สรุป แซลมอนเลี้ยงในฟาร์ม ไม่ได้มีอันตราย หรือมีพิษอย่างที่เข้าใจกัน อันตรายที่เกิดขึ้น น่าจะมาจากการปนเปื้อนเชื้อโรคที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการขนส่ง การเก็บรักษามากกว่า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook