ทำไม “ผู้สูงอายุ” เสี่ยง “ภาวะขาดน้ำ” ช่วงฤดูร้อน

ทำไม “ผู้สูงอายุ” เสี่ยง “ภาวะขาดน้ำ” ช่วงฤดูร้อน

ทำไม “ผู้สูงอายุ” เสี่ยง “ภาวะขาดน้ำ” ช่วงฤดูร้อน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วงหน้าร้อนที่อุณหภูมิสูงเพิ่มขึ้น ผู้สูงอายุที่ดื่มน้ำน้อยอาจเกิดภาวะขาดน้ำ แนะผู้ดูแลกระตุ้นให้ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว และกระตุ้นให้ดื่มทุกชั่วโมงอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่ต้องรอกระหาย

ทำไม “ผู้สูงอายุ” เสี่ยง “ภาวะขาดน้ำ” ช่วงฤดูร้อน

นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ภาวะขาดน้ำในผู้สูงอายุมักพบได้ง่าย เนื่องจากของเหลวสำรองในร่างกายที่ลดลง การตอบสนองต่อความกระหายน้ำลดลง ความเสื่อมของร่างกาย เช่น กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ซึมเศร้า สมองเสื่อม รวมถึงการได้รับยาบางชนิดเพื่อรักษาโรคประจำตัว ทำให้ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการขาดน้ำมากกว่ากลุ่มวัยอื่นๆ 

สัญญาณอันตราย อาการของ “ภาวะขาดน้ำ”

อาการที่แสดงภาวะขาดน้ำในผู้สูงอายุ สามารถสังเกตได้ ดังนี้

  1. ริมฝีปากแห้ง 
  2. ความยืดหยุ่นของผิวหนังลดลง 
  3. อ่อนเพลีย 
  4. ปัสสาวะลดลงหรือมีสีเข้มขึ้น 
  5. เป็นตะคริวได้ง่าย
  6. หากผู้สูงอายุมีภาวะขาดน้ำที่รุนแรงมากขึ้น จะพบว่ามีชีพจรเร็วกว่า 120 ครั้งต่อนาที 
  7. ความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่า ทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ เป็นลมง่าย 
  8. มีภาวะสับสน  
  9. หมดสติ 
  10. อาจเข้าสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวและไตวายได้

ส่วนใหญ่พบว่า ภาวะขาดน้ำในผู้สูงอายุ จะมีอาการแสดงที่ไม่ชัดเจน แต่จะสังเกตได้ง่ายเมื่อมีความรุนแรงแล้ว

วิธีป้องกันผู้สูงอายุเสี่ยงภาวะขาดน้ำในช่วงฤดูร้อน

นายแพทย์เอกชัย กล่าวต่อไปว่า ในช่วงหน้าร้อนที่อุณหภูมิสูงขึ้นจนบางครั้งใกล้เคียง หรือมากกว่าอุณหภูมิในร่างกายนั้น อาจจะเป็นสาเหตุทำให้ร่างกายของผู้สูงอายุสูญเสียน้ำมากกว่าปกติ ผู้ดูแลจึงควรดูแลผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิดมากขึ้น เช่น

  1. จัดหาน้ำสะอาดไว้ให้ผู้สูงอายุดื่มอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว 
  2. กระตุ้นให้ดื่มน้ำทุกชั่วโมงอย่างสม่ำเสมอ ไม่ต้องรอกระหาย
  3. จัดหาแก้วที่มีหูจับหรือสะดวกในการใช้ หรือให้ดูดจากหลอด ด้วยการวางแก้วน้ำไว้บนโต๊ะข้างเตียง 
  4. ไม่ควรให้ผู้สูงอายุดื่มชา กาแฟ แอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง เพราะจะยิ่งทำให้ร่างกายขาดน้ำมากยิ่งขึ้น
  5. ในกรณีที่ผู้สูงอายุมีโรคประจำตัว อาทิ ไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจ ควรดื่มน้ำตามปริมาณที่แพทย์ผู้รักษาแนะนำ
  6. ให้ผู้สูงอายุอยู่ในบ้านพัก อาคาร หรือสถานที่ที่มีเครื่องปรับอากาศ หรือหากไม่มีเครื่องปรับอากาศ แนะนำใช้พัดลม เปิดให้ห่างจากตัว อย่าหันพัดลมเป่าเข้าตัวโดยตรง ให้เปิดพัดลมแบบส่าย เปิดประตู-หน้าต่างเพื่อระบายอากาศ 
  7. หากอากาศร้อนจัดควรหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน แต่หากจำเป็นควรสวมหมวก เสื้อแขนยาวมีสีอ่อน กางเกงขายาว หลวม น้ำหนักเบา ระบายความร้อนได้ดี กางร่มเพื่อป้องกันแสงแดด และพกน้ำดื่มติดตัวตลอดเวลา 

ทั้งนี้ ผู้ดูแลควรสังเกตอาการผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับความร้อน หากพบอาการ เช่น ตะคริว หน้ามืด เป็นลม อ่อนเพลียมาก หรือซึมสับสน ให้รีบติดต่อสายด่วน 1669 แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือพาไปพบแพทย์ทันที

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook