ถอดบทเรียน คนเหนือลุกขึ้นสู้เพื่อลมหายใจตัวเอง หยุดปัญหาฝุ่น PM2.5

ถอดบทเรียน คนเหนือลุกขึ้นสู้เพื่อลมหายใจตัวเอง หยุดปัญหาฝุ่น PM2.5

ถอดบทเรียน คนเหนือลุกขึ้นสู้เพื่อลมหายใจตัวเอง หยุดปัญหาฝุ่น PM2.5
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วงหลายปีมานี้มลพิษฝุ่น PM2.5 กลายเป็นปัญหาสุขภาพที่ทวีความรุนแรง ส่งผลกระทบคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัย เด็กเล็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็น โรคภูมิแพ้ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหลอดลมอุดกั้น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น

มลพิษฝุ่นควันเป็นปัญหาซับซ้อน เชื่อมโยงหลายประเด็น หลายระดับ และเลื่อนไหลไร้พรมแดนจึงไม่สามารถรอการแก้ปัญหาจากภาครัฐเพียงลำพัง ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวของประชาชน ภาคประชาสังคม โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือซึ่งได้รับผลกระทบจากฝุ่นควันอย่างรุนแรงเป็นเวลายาวนาน ดังเช่น ผลการศึกษาเฉพาะอำเภอเชียงดาว [1] ที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นละเอียด PM2.5 จากการเผาป่าและเผาการเกษตร พบว่า อัตราการเสียชีวิตในชุมชนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.5 ซึ่งสูงกว่าอัตราการเสียชีวิตของทั้งจังหวัดกว่า 2 เท่า


โดยในปี 2562 ประชาชนภาคเหนือจากทุกภาคส่วนได้พร้อมใจกันลุกขึ้นมาแก้มลพิษฝุ่นควัน pm2.5 มีการรวมตัวครั้งใหญ่ในนามกลุ่ม “สภาลมหายใจเชียงใหม่” ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ จากที่แต่ละภาคส่วนเคยทำงานแบบต่างคนต่างทำ เริ่มเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันบน “พื้นที่กลาง” มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน และวิเคราะห์สรุปบทเรียนสร้างเป้าหมายร่วมกัน นำมาสู่การออกแบบการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน

ตั้งแต่ระดับครอบครัวเกิดโครงการ “บ้านสู้ฝุ่น” เจ้าของบ้านจิตอาสาจะได้เข้าร่วมกิจกรรมเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับฝุ่นควันเบื้องต้น พันธุ์ไม้ซับฝุ่น การติดตั้งน้ำฝอยในบ้าน ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ และนักออกแบบ ปัจจุบันเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ และสมาชิกบ้านสู้ฝุ่นจิตอาสาร่วมกันติดตั้งน้ำฝอย เติมต้นไม้ เสริมความรู้ ได้แล้ว 90 หลังในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่

ระดับองค์กรมีโครงการ “ธุรกิจสู้ฝุ่น” เป็นการร่วมมือกับภาคธุรกิจในเมืองเชียงใหม่ สร้างต้นแบบธุรกิจลดฝุ่น หรือธุรกิจเชียงใหม่เพื่ออากาศสะอาดจำนวน 30 แห่ง สำหรับธุรกิจที่เข้าร่วมจะได้รับตราสัญลักษณ์ “น้องสดใส” เป็นประดับร้านค้า รถ และสินค้าบริการ

ระดับชุมชนเกิดเป็นโครงการ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” เสริมสร้างความปลอดภัยด้านสุขภาพให้แก่นักเรียนในพื้นที่ให้สามารถปรับตัวและพึ่งพาตนเองในยามที่เกิดวิกฤตด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก รวมถึงสร้างความเข้าใจสถานการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่ และนำส่งการดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ร่วมกัน

จนกระทั่งระดับเมือง ระดับจังหวัดที่เรียกกันว่า “เชียงใหม่โมเดล” เป็นความร่วมมือของทุกฝ่ายในการแก้ปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 โดยใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงและงานวิชาการที่ทุกฝ่ายยอมรับ แล้วเปลี่ยนกระบวนการคิดและกระบวนการแก้ปัญหา ซึ่งเป็นมาตรการใหม่ที่ต่างไปจากเดิม

ทั้งนี้ยึดหลักการทำงานโดยให้ “พื้นที่เป็นตัวตั้ง ชุมชนเป็นแกนหลัก ท้องถิ่นเป็นแกนประสาน” บนความเชื่อว่า ชุมชนอยู่ติดผืนป่า ติดผืนดินและสายน้ำ บริบทในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน ต้องการการออกแบบการวางแผนในการป้องกันที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่

นอกจากนี้สภาลมหายใจเชียงใหม่ยังแบ่งการทำงานในพื้นที่เมือง โดยร่วมมือกับองค์กรปกครองท้องถิ่น ภาคเอกชนและหน่วยงานของรัฐ ทำงานรณรงค์เพิ่มพื้นที่สีเขียว การใช้จักรยาน การใช้รถสาธารณะ การลดควันดำในรถสองแถว

พื้นที่นอกเมืองร่วมกับชุมชนและองค์กรปกครองท้องถิ่น วางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาในพื้นที่เกษตร และพื้นที่ป่า ประสานเพื่อให้เกิดการปลดล็อคระเบียบและกรอบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานป้องกันการเผาขององค์การปกครองท้องถิ่น ผลักดันหน่วยราชการทั้งส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นสนับสนุนให้องค์การปกครองท้องถิ่นสามารถสนับสนุนชุมชนในการป้องกันและแก้ไขเรื่องฝุ่นควันได้ เช่น สนับสนุนชุมชนในพื้นที่รอบดอยสุเทพ และอำเภอต่างๆ ของเชียงใหม่


นอกจากนี้ยังเป็นการทำงานที่ต้องเชื่อมโยงกับสถาบันวิชาการ เพื่อให้การแก้ปัญหาฝุ่นควันตั้งอยู่บน “ฐานความรู้แทนอคติ” ที่เมื่อเกิดวิกฤติฝุ่นควัน มักจะโทษชาวบ้านหรือชุมชนบนดอยเพียง

และที่สำคัญไม่แพ้เรื่องอื่นคือ งานสื่อสารสาธารณะและงานรณรงค์สร้างความตระหนักรู้และมีส่วนร่วมแก้ปัญหาโดยทุกคน สภาลมหายใจเชียงใหม่ให้ความสำคัญงานนี้เพื่อให้เกิดการสื่อสารปัญหาและผลกระทบ ข้อมูลความรู้ ข้อเสนอทางออก การรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ด้านสุขภาพ การจัดการพื้นที่สีเขียวพื้นที่สาธารณะ ตลอดจนการมีส่วนในการแก้ปัญหาของประชาชนกลุ่มต่างๆ ผ่านทางเพจเฟสบุ๊ค เว็ปไซด์สถานีฝุ่น ตลอดจนความร่วมมือในการผลิตสื่อรณรงค์ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาฝุ่นควันไม่สามารถแก้เพียงลำพังจังหวัดใดหรือภาคใดภาคหนึ่งได้ เพราะแม้พื้นที่เผาไหม้ในพื้นที่จะลดลง แต่ค่ฝุ่น pm2.5 ก็ยังสูงอยู่ดี เพราะมีกระแสลมพัดพาฝุ่นควันจากจังหวัดข้างเคียงและประเทศเพื่อนบ้านข้ามมา ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการประสานเชื่อมโยงให้เกิดเครือข่ายกับพื้นที่อื่น ๆ เพื่อการแลกเปลี่ยน ช่วยเหลือสนับสนุนกัน ตลอดจนการรวบรวมข้อเสนอต่อภาครัฐเพื่อคลี่คลายข้อจำกัดในการทำงาน สนับสนุนทางนโยบายการแก้ปัญหา และการผลักดันกฎหมายบริหารที่จะแก้ปัญหาในภาครวมต่อไป

หากพื้นที่ใดสนใจเรียนรู้แนวทางการทำงาน ต้องการสื่อรณรงค์ หรือต้องการสร้างความร่วมมือ สามารถติดต่อมาได้ที่ สภาลมหายใจเชียงใหม่ ที่อยู่ 131 หมู่ 3 ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50100 อีเมล์ breathcouncil@gmail.com

[Advertorial] 

อ้างอิง
[1] มลพิษฝุ่นละเอียด PM2.5 ผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพ ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ หน่วยวิชาโรคระบบการหายใจ เวชบำบัดวิกฤตและภูมิแพ้ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook