โควิด-19 ทำให้ “ปวดกล้ามเนื้อ” ได้อย่างไร
เนื่องจากอาการปวดกล้ามเนื้อ จัดเป็นหนึ่งในสิ่งที่พบได้ขณะที่ติดเชื้อโควิด-19 อย่างนี้เราจะรู้อย่างไรว่าอาการปวดกล้ามเนื้อเหล่านั้น มาจากติดเชื้อโควิด-19 หรือเป็นอาการปวดกล้ามเนื้อทั่วๆ ไป Sanook Health มีข้อมูลจาก นพ.เกรียงศักดิ์ เล็กเครือสุวรรณ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล (WMC) มาฝากกัน
ปวดกล้ามเนื้อธรรมดา VS ปวดกล้ามเนื้อเพราะโควิด-19
- ในกรณีติดเชื้อโควิด-19 อาการปวดกล้ามเนื้อจะเกิดขึ้นในช่วงแรกของการติดเชื้อเท่านั้น โดยส่วนมากอาการจะเป็นต่อเนื่องประมาณ 2-3 วันครับ โดยจะมีส่วนน้อยที่มีอาการนานกว่านั้น (ในผู้ใหญ่อายุ 35 ปีขึ้นไป อาจพบมีอาการปวดกล้ามเนื้อได้นานประมาณ 1 สัปดาห์)
- หนึ่งในสามหรือประมาณ 30% ของคนไข้ที่ติดเชื้อโควิดจะมีอาการปวดกล้ามเนื้อครับ โดยอาจพบมากขึ้น
ในผู้ใหญ่ โดยในเด็กพบ 15%, อายุ 16-65 ปี พบ 41% และ อายุมากกว่า 65 ปี พบ 36% - ถ้าติดเชื้อโควิด-19 อาการปวดกล้ามเนื้อจะเกิดขึ้นร่วมกับอาการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นไข้ ปวดศีรษะ ไอ น้ำมูก หรือจมูกไม่สามารถรับกลิ่นได้ปกติ เราต้องสังเกตตัวเอง ว่ามีอาการเหล่านี้หรือไม่
- ลักษณะอาการปวดกล้ามเนื้อจาก โควิด-19 มักจะมาร่วมกับอาการอ่อนเพลียหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง มักไม่พบปวดกล้ามเนื้อเพียงอย่างเดียว
การติดเชื้อ โควิด-19 ทำให้ “ปวดกล้ามเนื้อ” ได้อย่างไร?
สาเหตุหลักมาจากปัจจัยสองอย่าง ดังต่อไปนี้
- ไวรัสก่อให้เกิดการบาดเจ็บต่อเส้นใยกล้ามเนื้อโดยตรง
- ไวรัสกระตุ้นให้เกิด “สารก่อการอักเสบ” ขึ้นในร่างกาย ไปกระตุ้นให้เกิดการปวดกล้ามเนื้อทางอ้อม
อาการปวดกล้ามเนื้อจากการติดเชื้อ โควิด-19 “รักษาอย่างไร?”
- พักผ่อน งดออกกำลังกาย
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ
- รับประทานยาพาราเซตามอลหากจำเป็น
ในกรณีที่เราติดเชื้อไวรัส โควิด-19 แล้วนั้น หากเราสามารถที่จะลดอาการปวดกล้ามเนื้อลงได้ ย่อมจะทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน