ไขข้อสงสัย ครีมเทียมจาก “น้ำมันมะพร้าว-น้ำมันปาล์ม” เป็น “ไขมันทรานส์” หรือไม่
ครีมเทียมที่ทำจากน้ำมันมะพร้าว และน้ำมันปาล์ม ไม่ได้เป็นแหล่ง ของไขมันทรานส์ แต่ยังให้พลังงานจากไขมันเป็นหลัก หากกินทุกวันเป็นเวลานาน โดยไม่มีการออกกำลังกาย อาจส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูง และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)
ครีมเทียมจาก “น้ำมันมะพร้าว-น้ำมันปาล์ม” เป็นไขมันทรานส์หรือไม่
ดร.แพทย์หญิงสายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย ระบุว่า จากข้อมูลที่มีการแชร์กันในโลกออนไลน์ที่ว่า ครีมเทียมเกิดจากการเติมไฮโดรเจนบางส่วนลงในน้ำมันมะพร้าวและน้ำมันปาล์ม เพื่อเปลี่ยนจากของเหลวให้เป็นของแข็ง กระบวนการนี้ทำให้เกิดไขมันทรานส์ จะเสี่ยงต่อการเกิด เส้นเลือดอุดตัน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากกระบวนการผลิตครีมเทียมจากน้ำมันมะพร้าว และน้ำมันปาล์ม เป็นการเติมไฮโดรเจนแบบสมบูรณ์ (fully hydrogenation) จึงไม่ได้เป็นแหล่งของไขมันทรานส์
ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามการควบคุม และกำกับดูแลไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์อาหาร ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 ปี 2561 เรื่องห้ามการผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ซึ่งเป็นแหล่งหลักของไขมันทรานส์ กรมอนามัย โดยสำนักโภชนาการ จึงได้มีการสุ่มตรวจ วิเคราะห์ปริมาณไขมันทรานส์ในครีมเทียมที่ทำจากน้ำมันมะพร้าว และน้ำมันปาล์ม ที่มีจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป พบปริมาณไขมันทรานส์ ระหว่าง 0.02-0.25 กรัมต่อ 100 กรัม ซึ่งเกณฑ์การแสดงค่าสารอาหารบนฉลากโภชนาการ ตามที่กฎหมายระบุค่าที่วิเคราะห์ได้น้อยกว่า 0.5 กรัมต่อ 100 กรัม สามารถแสดงค่าบนฉลากเป็น 0.0 กรัม จากผลวิเคราะห์สามารถยืนยันได้ว่า ครีมเทียมที่ทำจากน้ำมันมะพร้าว และน้ำมันปาล์ม ไม่ได้เป็นแหล่งหลักของไขมันทรานส์ ตามที่มีการเผยแพร่
ครีมเทียมจากน้ำมันมะพร้าว-น้ำมันปาล์ม มีประโยชน์ หรืออันตรายต่อร่างกาย
ดร.แพทย์หญิงสายพิณ กล่าวต่อไปว่า ถึงแม้ว่าในปัจจุบันกระบวนการผลิตครีมเทียมจากน้ำมันมะพร้าว และน้ำมันปาล์ม เป็นแบบไฮโดรเจนแบบสมบูรณ์ เมื่อคำนวณเทียบต่อหน่วยบริโภค (3 กรัม) ร่างกายจะได้รับไขมันทรานส์น้อยมาก แต่ในครีมเทียมยังเป็นแหล่งของไขมัน และมีส่วนประกอบที่เป็นสารให้ความหวานมากถึงร้อยละ 60 รวมทั้งปริมาณที่ใช้ต่อการผสมในเครื่องดื่ม อาทิ ชา กาแฟ ค่อนข้างเยอะ หากกินทุกวันเป็นเวลานาน โดยไม่มีการออกกำลังกาย ก็จะเกิดการสะสมไขมันตรงตับ ในรูปของไกลโคเจน ซึ่งถ้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเกิดเป็นไขมันสะสม ส่งผลทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง และก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ในที่สุด
ไขมันทรานส์ กินเท่าไรถึงปลอดภัย
ทั้งนี้ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การอนามัยโลก (WHO) จึงแนะนำให้ประชาชนบริโภคกรดไขมันทรานส์ให้น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ โดยต้องไม่เกินกว่าปริมาณพลังงานร้อยละ 1 ของปริมาณพลังงานที่บริโภคต่อวัน คือ 2.2 กรัมต่อวัน หรือ 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค นอกจากนี้ ควรบริโภคพลังงานจากกรดไขมันอิ่มตัวไม่เกินร้อยละ 10 ของปริมาณพลังงานที่บริโภคต่อวัน หรือกรดไขมันอิ่มตัว 22 กรัมต่อวัน หรือ 5 กรัมต่อมื้อ โดยผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 19 ปีขึ้นไป ควรได้รับไขมันทั้งหมด ร้อยละ 20-35 ของพลังงานทั้งหมด ที่ควรได้รับต่อวัน ได้แก่ น้ำมันไม่เกิน 6 ช้อนชา ไขมันอิ่มตัวน้อยกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 10 และไขมันทรานส์น้อยกว่าร้อยละ 1 ของพลังงานทั้งหมดที่ควรได้รับต่อวัน