รู้จัก Aphasia ภาวะเสียการสื่อความ พูด-ฟังคนอื่นไม่เข้าใจ
โรค Aphasia เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคที่เกิดจากปัญหาทางการพูดและการสื่อความหมายที่อาจพบได้ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
โรค Aphasia คืออะไร
โรค Aphasia คือภาวะเสียการสื่อความ ผู้ป่วยจะเสียความสามารถในการพูด หรือไม่เข้าใจในสิ่งที่ผู้อื่นพูด หรือมีปัญหาทั้ง 2 อย่างร่วมกัน อาจมีความบกพร่องในการเขียน การอ่าน การวาดรูป การคำนวณ รวมทั้งการเรียบเรียงประโยคร่วมด้วย
จุดเด่นของโรคนี้คือจะมีความผิดปกติเกี่ยวกับการใช้คำกริยา คำนาม คำสันธาน คำสรรพนาม คำบุพบท และ คำวิเศษณ์
สาเหตุของโรค Aphasia
สาเหตุของโรค Aphasia มาจากความผิดปกติของสมองที่ควบคุมด้านภาษา โดยมีความเสียหายของสมองบริเวณ Broca’s area หรือ Left inferior frontal lobe
ระดับของโรค Aphasia
ภาวะเสียการสื่อความหวาน มีหลายระดับ มีตั้งแต่ระดับรุนแรงน้อย ที่ยังสามารถสื่อสารเรื่องทั่วๆ ไปได้ แต่นึกคำบางคำไม่ออก ไปจนถึงระดับรุนแรงมาก ที่ผู้ป่วยไม่เข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นพูดเลย และไม่สามารถพูดสื่อสารโต้ตอบกลับไปได้
อย่างไรก็ตาม ภาวะเสียการสื่อความหมายไม่เกี่ยวข้องกับระดับสติปัญญา ผู้ป่วยยังคงมีระดับสติปัญญาคงเดิม
ชนิดของโรค Aphasia
ภาวะเสียการสื่อความหมาย แบ่งได้เป็น 2 ชนิด
- ชนิดพูดไม่คล่อง
ผู้ป่วยจะมีปัญหาในการพูดสื่อสาร เพื่อบอกความต้องการของตัวเอง นึกคำไม่ออก แต่เข้าใจในสิ่งที่ผู้อื่นพูด
- ชนิดพูดคล่อง
ผู้ป่วยจะไม่เข้าใจคำพูดของผู้อื่น สามารถพูดออกมาได้แต่เนื้อหาที่ไม่ตรงกับเรื่องที่กำลังสนทนากันอยู่ เช่น การพูดแบบ “ไปไหนมา สามวาสองศอก”
การรักษาโรค Aphasia
ทางการแพทย์จะแนะนำให้คนรอบข้างพยายามสื่อสารกับผู้ป่วยด้วยประโยคสั้นๆ ช้าๆ ไม่ซับซ้อน ในสิ่งแวดล้อมที่เงียบสงบ พร้อมใช้ภาษาท่าทางประกอบ และควรกระตุ้นให้ผู้ป่วยพยายามสื่อสารตอบโต้ด้วยบ่อยๆ