ไขข้อสงสัย "ขิง" ต้าน "โควิด-19" ได้มากน้อยแค่ไหน
น้ำขิงที่จิบกันบ่อยๆ ในช่วงโควิด-19 ระบาด ช่วยรักษาหรือป้องกันโควิด-19 ได้มากน้อยแค่ไหน
ข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ขิง เป็นสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยจะใช้ส่วนเหง้าของขิงรับประทานแก้คลื่นไส้อาเจียน แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ขับผายลม เจริญอากาศธาตุ
ขิงเป็นสมุนไพรที่มีรสร้อน และมีกลิ่นฉุนเฉพาะของขิง เนื่องจากมีสารสำคัญหลัก คือ 6-gingerol, shogaols, diarylheptanoids, zingiberene และมีสารที่เป็นกลุ่มน้ำมันหอมระเหย
ขิง เป็นพืชสมุนไพรที่นำมาใช้รักษาอาการต่างๆ หรือเป็นส่วนประกอบของตำรับยาสมุนไพรในประเทศไทย และหลายประเทศทั่วโลก เช่น จีน อินเดีย มาเลเซีย โดยส่วนใหญ่ใช้รักษาอาการคลื่นไส้อาเจียน ซึ่งผลการศึกษาวิจัยทางคลินิกพบว่า ขิงมีประสิทธิภาพในการรักษาอาการอาเจียนหลังผ่าตัดและขณะตั้งครรภ์ได้
"ขิง" ต้าน "โควิด-19" ได้มากน้อยแค่ไหน
จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้หลายประเทศมีการศึกษาข้อมูลสมุนไพรที่น่าจะมีประสิทธิผลในการต้านไวรัสและรักษาโรคโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น ขิงจึงถูกนำมาศึกษาเพิ่มเติม เนื่องจากมีการศึกษาวิจัยที่ผ่านมาในระดับหลอดทดลอง พบว่าสารสำคัญในเหง้าขิงมีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคปากอักเสบพุพอง ขิงช่วยลดความรุนแรงจากการอักเสบของปอดและการขาดออกซิเจน นอกจากนี้ขิงมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ช่วยลดการอักเสบของกล้ามเนื้อและข้อในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้อีกด้วย
การศึกษาเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ของขิงในระดับหลอดทดลอง พบว่าสารสำคัญในขิงมีแนวโน้มสามารถต้านเชื้อไวรัสได้ โดยจำเพาะกับเชื้อ SARS CoV-2 และอาจจะพัฒนาเป็นยาในการต้านไวรัสโควิด-19 ได้ในอนาคต มีการศึกษาวิจัยในคนของประเทศอิหร่าน พบว่าผู้ป่วยโรคโควิด-19 มีระดับอาการไอ หอบเหนื่อยและปวดกล้ามเนื้อลดลงเมื่อรับประทานยาขิงร่วมกับยาสมุนไพรชนิดอื่น แต่ผลต่ออาการอื่นๆ และระยะเวลาการรักษาในโรงพยาบาลยังไม่แน่ชัด และอาจจะไม่ใช่ผลของขิงเพียงอย่างเดียว จึงต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไป
ดังนั้นกล่าวโดยสรุป ขิงถูกมองว่าเป็นสมุนไพรที่มีแนวโน้มในการรักษาโรคโควิด-19 เนื่องจากการศึกษาวิจัยในระดับหลอดทดลองพบว่ามีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัส ลดการอักเสบในปอดและกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นอาการสำคัญของโรคโควิด-19 แต่อย่างไรก็ตาม หากจะนำขิงมาใช้รักษาหรือต้านเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 ยังไม่แนะนำให้ใช้ เนื่องจากยังมีหลักฐานงานวิจัยสนับสนุนถึงประสิทธิผลไม่เพียงพอ แนะนำให้ใช้ขิงตามภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทย คือ รับประทานน้ำขิงหรือขิงสด เพื่อบรรเทาอาการท้องอืด แน่นจุกเสียด และบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน ส่วนการรับประทานยาขิงหรือสารสกัดขิงควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์แผนไทยหรือแพทย์แผนไทยประยุกต์