ใช้ “คอตตอนบัด” เช็ดหูบ่อยๆ ระวัง “ขี้หูอุดตัน” อันตรายต้องพบแพทย์
อันตรายจากขี้หูอุดตัน ที่สาเหตุสำคัญมาจากการใช้คอตตอนบัดเช็ดในรูหูเป็นประจำ
รศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุถึงอันตรายของการใช้ไม้พันสำลี (คอตตอนบัด) เช็ดในรูหูเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังอาบน้ำ ว่า การใช้ไม้พันสำลี ทำความสะอาดช่องหูชั้นนอก โดยเฉพาะหลังอาบน้ำ แล้วมีน้ำเข้าหู ซึ่งทำให้รู้สึกรำคาญ การกระทำดังกล่าวจะยิ่งกระตุ้น ทำให้ต่อมสร้างขี้หู ทำงานมากขึ้น มีปริมาณขี้หูที่ผลิตออกมามากขึ้น และยิ่งดันขี้หูในช่องหูให้อัดแน่นยิ่งขึ้น ทำให้ขี้หูอุดตันช่องหูชั้นนอกมากขึ้น
อาการเริ่มต้นของขี้หูอุดตัน
ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์จากอาการที่พบได้เหล่านี้
- คันในรูหู
- เจ็บข้างในรูหู
- มีเสียงในหู
- วิงเวียนศีรษะ บ้านหมุน
- การได้ยินลดลง
- เมื่อมีอาหารติดเชื้อ อาจมีน้ำหรือหนองไหลออกมาจากรูหู
วิธีรักษาขี้หูอุดตัน
แพทย์จะพยายามนำขี้หูออกให้ อาจโดยการล้างช่องหูชั้นนอกด้วยน้ำเกลือ, การคีบ หรือดูดหรือใช้เครื่องมือแคะขี้หูออก
ถ้าไม่สามารถเอาออกได้ แพทย์อาจสั่งจ่ายยาละลายขี้หู เช่น โซเดียมคาร์บอเนต ให้ผู้ป่วยกลับไปหยอดหูเองที่บ้าน เมื่อขี้หูค่อยๆ นิ่มตัวลง เอาออกง่ายขึ้น หลังจาก 1 สัปดาห์แพทย์จะนัดมาเอาขี้หูออกให้อีกครั้ง
ห้ามผู้ป่วยพยายามเอาขี้หูออกเอง เพราะต้องใช้อุปกรณ์และวิธีที่ถูกต้อง มิฉะนั้นอาจทำให้ขี้หูอัดแน่น เอาออกยากกว่าเดิม
วิธีป้องกันขี้หูอุดตัน
- พยายามไม่ใช้ไม้พันสำลีทำความสะอาดหู หรือปั่นหูอีก
- ถ้าน้ำเข้าหูทำให้รู้สึกรำคาญจนต้องปั่น หรือเช็ดหู ควรป้องกันไม่ให้น้ำเข้าโดยหาสำลีชุบวาสลีน หรือที่อุดหูสำหรับนักดำน้ำ ซึ่งมีขายตามร้านกีฬา มาอุดหูเวลาอาบน้ำ หรือผู้หญิงที่สวมหมวกอาบน้ำ ควรดึงหมวกให้มาคลุมใบหู เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าหู
- ถ้าเป็นคนที่มีความเสี่ยงขี้หูแห้ง แข็ง อุดตันบ่อย อาจใช้ยาละลายขี้หู หยอดในหูเป็นประจำ เพื่อทำการล้างขี้หู อาจใช้เพียงอาทิตย์ละครั้ง ถ้าไม่มีปัญหา อาจห่างออกไป เป็น 2 หรือ 3 หรือ 4 อาทิตย์ หยอด 1 ครั้ง ก็จะช่วยลดการอุดตันของขี้หู ในช่องหูชั้นนอกได้