รู้จัก “หินปูนเต้านม” อันตราย เสี่ยงมะเร็งเต้านม
เต้านม คือ อวัยวะส่วนสำคัญ ที่หากเกิดความผิดปกติขึ้นสาวๆ หลายคนคงเกิดความวิตกกังวลเป็นอย่างมาก เพราะความผิดปกติที่เกิดขึ้นอาจเป็นสัญญาณเสี่ยงของโรคร้ายที่จะตามมา ซึ่งอีกหนึ่งความน่ากังวลที่เกิดขึ้นกับเต้านมจนเสี่ยงเกิดโรคได้นั่นคือ “หินปูนเต้านม”
หินปูนเต้านม คืออะไร
แพทย์หญิง ตรีทิพย์ เกิดสินธ์ชัย แพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมเต้านม โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล ระบุว่า โดยปกติเซลล์ในเต้านมของคนเรามีการเกิดและตายในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก “หินปูนเต้านม” คือ ซากของเซลล์ที่ตายแล้วและกลายเป็นแคลเซียมหรือหินปูนใน โดยหินปูนหรือแคลเซียมนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- หินปูนชนิดไม่อันตราย จะมีลักษณะใหญ่ กลม มีขอบขาว หรือคล้ายเปลือกไข่
- หินปูนชนิดอันตราย เสี่ยงมะเร็งเต้านม!
- หินปูนที่มีลักษณะเม็ดเล็กขนาด 0.5 มม. เป็นฝอย คล้ายผงแป้ง
- หินปูนที่มีขนาดไม่สม่ำเสมอ ลักษณะเบลอฟุ้ง รวมตัวกัน
- หินปูนที่มีลักษณะเป็นขีด เส้น เรียงต่อกันเป็นแนวยาวหรือแตกแขนงออกคล้ายกิ่งไม้
หินปูนเหล่านี้ หากเกิดขึ้นแล้วมักจะไม่แสดงอาการ ไม่สามารถคลำหรือเห็นได้จากภายนอกได้ จึงจำเป็นต้องตรวจคัดกรองแมมโมแกรมเพื่อหาหินปูนชนิดที่อันตราย เพื่อการรักษาที่ทันท่วงที
การตรวจหาหินปูนในเต้านมได้ด้วยแมมโมแกรม (Mammogram)
แมมโมแกรม (Mammogram) คือ การเอกซเรย์เต้านมโดยใช้ปริมาณรังสีต่ำเพื่อค้นหาความผิดปกติ ทั้งรูปร่าง และการกระจายตัวของหินปูนเต้านม ที่เครื่องเอกซเรย์ทั่วไปไม่สามารถตรวจหาได้ เนื่องจากแมมโมแกรม เป็นเทคโนโลยีที่มีความคมชัดสูง ในการหาจุดที่อยู่ของหินปูนขนาดเล็ก เพื่อผลการวินิจฉัยความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมที่แม่นยำ
ใครควรตรวจแมมโมแกรม
- ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม
- ผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่มีอาการผิดปกติ เช่น มีสารคัดหลั่งไหลออกจากหัวนม ผิวหนังเต้านมผิดปกติ มีก้อนที่เต้านม เป็นต้น
ความผิดปกติที่จุดเล็กๆ ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อร่างกายอย่างมะเร็งเต้านมเป็นสิ่งที่ไม่สามารถตรวจพบได้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะหินปูนที่เต้านม ดังนั้นการพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงเป็นเรื่องสำคัญ อย่ามองข้ามความเสี่ยงที่มองไม่เห็น ตรวจก่อนสาย เพื่อสุขภาพที่ดีที่สุด