โรค "เกาต์" กับ "ข้อเข่าเสื่อม" แตกต่างกันอย่างไร
- โรคเกาต์นั้นพบบ่อยทั้งในเพศชายและเพศหญิง ทำให้เกิดอาการปวด บวม แดง ร้อนของข้อนั้นๆ อย่างเฉียบพลัน ขณะที่ เข่าเสื่อมมักพบในคนที่มีอายุเฉลี่ยตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย จะมีอาการปวดในข้อเข่า ข้อเข่าติดหรือฝืดตึง มีเสียงดังในข้อเข่า มีจุดกดเจ็บ ข้อเข่าบวมผิดรูป
- อาการของโรคเกาต์และข้อเข่าเสื่อมส่งผลต่อผู้ป่วย และรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้น หากเผชิญกับอาการปวดข้อควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาให้ตรงกับโรค การปล่อยปละละเลยอาจยิ่งทวีความรุนแรงของโรค จนสร้างความยุ่งยากและซับซ้อนในการรักษาได้
นพ. วีรยุทธ ชยาภินันท์ แพทย์ชำนาญการด้านกระดูกและข้อ รพ.สมิติเวช สุขุมวิท ระบุว่า โรคเกาต์และโรคข้อเข่าเสื่อมนั้นเป็นรูปแบบของ “โรคข้ออักเสบ” ที่พบบ่อยที่สุด โดยมีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคที่คล้ายคลึงกัน เช่น อายุที่มากขึ้น โรคอ้วน และภาวะโภชนาการ
แม้โรคเกาต์และโรคข้อเข่าเสื่อมจะมีความคล้ายคลึงกันของโรค เช่น ทำให้มีอาการปวดข้อเช่นเดียวกัน มีอาการบวมหรือผิดรูปของข้อเข่าคล้ายๆ กัน สามารถเกิดขึ้นได้ในข้อเดียวกันและเวลาเดียวกัน และยังสามารถกระตุ้นให้เกิดโรคของกันและกันได้ แต่จริงๆ แล้วโรคเกาต์และโรคข้อเข่าเสื่อมนั้นก็มีความแตกต่างกันอยู่
ความแตกต่างของโรคเกาต์ และ โรคข้อเข่าเสื่อม
กลุ่มเสี่ยง
- โรคเกาต์ : พบบ่อยทั้งในเพศชายและเพศหญิง
- ข้อเข่าเสื่อม : พบบ่อยในผู้ที่มีอายุเฉลี่ยตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เนื่องจากปัจจัยด้านฮอร์โมน กระดูกและกล้ามเนื้อ
สาเหตุของโรคเกาต์ VS ข้อเข่าเสื่อม
- โรคเกาต์ : เกิดจากภาวะกรดยูริกในเลือดสูง (Hyperuricemia) และไม่สามารถขับกรดยูริกส่วนเกินออกได้ จึงสะสมและตกผลึกตามข้อต่อและอวัยวะต่าง ๆ
- ข้อเข่าเสื่อม : เกิดจากภาวะที่กระดูกอ่อนผิวข้อเข่าเกิดอาการสึกหรอ ฉีกขาด และเสื่อมสภาพตามช่วงอายุและปัจจัยหลายๆ ด้าน เมื่อกระดูกอ่อนผิวข้อมีการสึกหรอมากขึ้น จึงก่อให้เกิดอาการปวดเข่าขึ้น และยังไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบในข้อเข่าอีกด้วย
อาการของโรคเกาต์ VS ข้อเข่าเสื่อม
- อาการโรคเกาต์
- อาการของโรคเกาต์คือ ปวด บวม แดง ร้อนบริเวณข้อต่ออย่างรุนแรงและเฉียบพลัน สามารถเกิดได้กับข้อต่อต่างๆ เช่น ข้อเท้า ข้อศอก ข้อเข่า และข้อมือ แต่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นบริเวณนิ้วหัวแม่เท้า โดยจะปวดที่ข้อเดียว ไม่ปวดพร้อมกันหลายๆ ข้อ
- ปวดเข่าข้างใดข้างหนึ่ง
- หากเกิดอาการแล้ว จะเป็นๆ หายๆ ในระยะแรก หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะปวดบ่อยขึ้นและนานขึ้นจนกลายเป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรัง เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ เช่น โรคไต ไตวาย
- อาการข้อเข่าเสื่อม
- อาการปวดเข่า ข้อเข่าติด/ฝืดตึงน้อยกว่า 30 นาทีหลังตื่นนอน มีเสียงดังในข้อเข่าขณะเคลื่อนไหว มีจุดกดเจ็บบริเวณข้อเข่า ข้อเข่าผิดรูป บวม โดยอาการต่างๆ ค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและเรื้อรัง มากกว่า 6 เดือน
- มักปวด 2 ข้างพร้อมกัน
- อาการจะเป็นๆ หายๆ หรือมีอาการปวดหลังจากที่ได้ทำกิจกรรมที่มีแรงกดต่อผิวข้อเข่าเยอะๆ หรือเดินไกลๆ หากเป็นข้อเข่าเสื่อมในระยะแรกๆ หลังทำกิจกรรมนั้นแล้ว อาการปวดจะอยู่ไม่นานและจะหายไปได้เอง แต่หากเป็นระยะปานกลางขึ้นไปแล้ว อาการปวดจะเป็นต่อเนื่อง หากไม่ได้ใช้งานข้อเข่าก็ยังมีอาการปวด และไม่สามารถหายเองได้ หรือหากหายก็ไม่หายขาด
การรักษา
- โรคเกาต์ : สามารถรักษาและควบคุมไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำได้ด้วยการใช้ยาละลายผลึกกรดยูริก โดยรับประทานอย่างต่อเนื่องและเคร่งครัด เพื่อเป็นการรักษาอาการแบบเฉียบพลันและป้องกันการสะสมใหม่ของกรดยูริกและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
- ข้อเข่าเสื่อม : สามารถรักษาได้ตามระดับความรุนแรงของโรคที่เป็น ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล
- การให้ยาแก้ปวดหรือยาต้านการอักเสบ
- การทำกายภาพบำบัด
- การฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่าเทียม หรือการฉีด PRP
- การผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้อง
- การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรค
- โรคเกาต์: นอกจากการรับประทานยาแล้ว ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกรดยูริกสูง ดื่มน้ำมากๆ เพื่อขับกรดยูริกออกจากร่างกาย ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม หากมีอาการปวดสามารถใช้การประคบเย็นที่ข้อเข่าได้
- ข้อเข่าเสื่อม: นอกจากการรักษาข้างต้นแล้ว การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ภาวะโภชนาการและการออกกำลังกายก็เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้มีสุขภาพที่ดี น้ำหนักอยู่ในระดับที่สมดุล ลดปัจจัยของอาการปวดเข่าและการพัฒนาของข้อเข่าเสื่อมได้
อาการของโรคเกาต์และข้อเข่าเสื่อมส่งผลต่อผู้ป่วย ทั้งความเจ็บปวดทางร่างกาย และส่งผลกระทบทางจิตใจ สร้างความเครียด วิตกกังวล และรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้น หากเผชิญกับอาการปวดข้อควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาให้ตรงกับโรค เนื่องจากโรคเกาต์สามารถรักษาให้หายและควบคุมได้เพียงรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด สำหรับข้อเข่าเสื่อมนั้นก็สามารถเข้ารับการรักษาเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด การปล่อยปละละเลยอาจยิ่งทวีความรุนแรงของโรค จนสร้างความยุ่งยากและซับซ้อนในการรักษาได้