8 วิธีแก้ปัญหา “นอนไม่หลับ” ของผู้สูงอายุ

8 วิธีแก้ปัญหา “นอนไม่หลับ” ของผู้สูงอายุ

8 วิธีแก้ปัญหา “นอนไม่หลับ” ของผู้สูงอายุ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หนึ่งในความเข้าใจผิดที่มักมีต่อผู้สูงอายุคือความเชื่อที่ว่า การนอนไม่หลับหรือนอนได้ไม่ดีเป็นเรื่องปกติที่ต้องเกิดขึ้น ทั้งที่ความจริงแล้ว ถึงแม้ว่าอายุจะมากขึ้นแต่คนส่วนใหญ่ยังสามารถนอนหลับได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากเข้าใจถึงการปรับตัวและสุขอนามัยของการนอนที่ดี 

นพ.ชัยชนะ จรูญพิพัฒน์กุล จิตแพทย์ผู้สูงอายุ ศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของการนอนหลับที่ถูกพบเมื่ออายุมากขึ้น คือ

ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้สูงอายุนอนไม่หลับ

  • จำนวนชั่วโมงในการนอนลดลงเล็กน้อย
  • มีการตื่นระหว่างคืนมากขึ้นแต่ยังสามารถกลับไปนอนต่อได้
  • มักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง
  • โรคประจำตัวบางชนิดที่ส่งผลต่อการนอน
  • การทานยาบางชนิดที่มีผลต่อการนอน 
  • บรรยากาศในบ้านพัก 
  • การไม่ได้รับแสงแดดในช่วงกลางวันที่เพียงพอ 
  • การขาดกิจกรรมในช่วงกลางวัน 

เป็นต้น

อันตรายจากอาการนอนไม่หลับของผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุบางท่านอาจไม่เคยมีปัญหาในเรื่องการนอนมาก่อน แต่เมื่อร่างกายเปลี่ยนแปลงตามวัย ประกอบกับปัจจัยอื่นๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น หรือมีเหตุการณ์สำคัญหรือความเปลี่ยนแปลงในชีวิตเกิดขึ้น ทำให้เกิดการนอนไม่หลับขึ้นมาครั้งแรก หลังจากนั้นจึงเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับการนอน เกิดความกลัว ความไม่สบายใจ ความตึงตัวของกล้ามเนื้อ ความเครียดที่ต้องการนอนให้หลับในคืนนี้ ทำให้สมองเกิดการเรียนรู้และจดจำการนอนในรูปแบบใหม่ที่ไม่ผ่อนคลายและไม่สบายตัว ส่งผลให้เกิดการนอนไม่หลับต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานถึงแม้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะได้รับการแก้ไขแล้ว 

โรคประจำตัวของผู้สูงอายุ ที่ส่งผลต่อการนอน

โรคที่เกิดในผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะส่งผลต่อการนอนหรือมีอาการนอนไม่หลับเป็นอาการเริ่มของโรค จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและทำการรักษาต่อไป เช่น 

  • โรคทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับ 
  • โรคสมองเสื่อม 
  • โรคหัวใจ 
  • โรคถุงลมโป่งพอง 
  • โรคหลอดเลือดสมอง 
  • โรคกรดไหลย้อน 
  • ภาวะการนอนละเมอ 
  • กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข 
  • โรคซึมเศร้า 
  • โรควิตกกังวล 

เป็นต้น 

นอกจากนี้การนอนไม่หลับเป็นระยะเวลานานยังส่งผลให้เกิดความเครียด อาการอ่อนเพลียระหว่างวัน อารมณ์หงุดหงิดง่าย และไม่สดชื่น อีกทั้งยังส่งผลต่อความจำ ทำให้ความจำแย่ลงและมีความเสี่ยงในการหกล้มเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาที่ร้ายแรงตามมาได้หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม

8 วิธีแก้ปัญหา “นอนไม่หลับ” ของผู้สูงอายุ

เคล็ดลับในการนอนเพื่อเพิ่มสุขอนามัยในการนอนที่ดี สามารถทำได้ ดังนี้

  1. ควรกำหนดเวลาเข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลาเดียวกันทุกวัน 
  2. ทำกิจกรรมผ่อนคลายเป็นเวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมงก่อนเวลาเข้านอน เช่น อ่านหนังสือ อาบน้ำอุ่น จัดเตรียมเสื้อผ้า จัดของใช้ส่วนตัว สวดมนต์ นั่งสมาธิ 
  3. หากนอนไม่หลับไม่ควรนอนบนเตียงต่อ ควรลุกขึ้นมาทำกิจกรรมที่เบาและผ่อนคลาย เมื่อรู้สึกง่วงอีกครั้งจึงกลับไปนอนต่อ 
  4. ผู้สูงอายุไม่ควรนอนหรืองีบในเวลากลางวัน แต่หากฝืนไม่ได้แนะนำให้งีบกลางวันได้ 10-15 นาทีในช่วง 8 ชั่วโมงแรกหลังตื่นนอน 
  5. ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ โดยงดออกกำลังกายในช่วง 4 ชั่วโมงก่อนถึงเวลานอน 
  6. งดสูบบุหรี่ งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม เป็นต้น 
  7. หลีกเลี่ยงอาหารมื้อหนักและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง 4 ชั่วโมงก่อนถึงเวลานอน 
  8. ไม่ควรรับประทานยานอนหลับโดยไม่ได้พบจิตแพทย์ผู้ชำนาญการ เนื่องจากยาจะส่งผลเสียต่อสมอง ความจำแย่ลง การติดยา การดื้อยา การพลัดตกหกล้ม การเกิดอุบัติเหตุ และการบดบังอาการของโรคอันเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะนอนไม่หลับขึ้นได้

หากมีปัญหาการนอนควรพบแพทย์โดยเร็ว ไม่ควรรอให้เกิดปัญหาเป็นระยะเวลานาน เพราะจะก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายต่างๆ ตามมา อีกทั้งโรคหรือภาวะที่เป็นสาเหตุจะไม่ได้รับการแก้ไข 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook