เช็กเลย! คุณควรส่องกล้อง “ลำไส้ใหญ่” ทุกครั้งที่ตรวจสุขภาพประจำปีหรือไม่
- ปัจจุบัน มีคนที่คิดว่าตนเองมีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจสุขภาพประจำปี มากถึง 59% และมีเพียง 2% เท่านั้นที่เข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี
- ติ่งเนื้อขนาดเล็ก (polyp) ชนิด adenoma บริเวณลำไส้ใหญ่ เป็นระยะก่อนมะเร็ง (pre-cancerous lesion) ซึ่งมีโอกาสดำเนินโรคเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ในเวลา 3-5 ปี มากถึง 90%
- จากการศึกษาพบว่าการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยวิธีส่องกล้องลำไส้ใหญ่ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป ทั้งผู้ชายและผู้หญิง รวมถึงผู้ที่มีความเสี่ยง สามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
ด้วยปัจจุบันมีข่าวสารสุขภาพแพร่หลายและเข้าถึงได้ง่าย อีกทั้งผู้คนยังให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายมากขึ้น จากข้อมูลในเดือนตุลาคม พ.ศ.2559 ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พบว่า มีคนที่คิดว่าตนเองมีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจสุขภาพประจำปี มากถึง 59% และมีเพียง 2% เท่านั้นที่เข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี
ความสำคัญของการตรวจสุขภาพประจำปี
พญ. วินิตา โอฬารลาภ แพทย์ชำนาญการด้านโรคระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาล สมิติเวช สุขุมวิท ระบุว่า กุญแจสำคัญของการมีสุขภาพดี คือ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับให้เพียงพอ อยู่ในที่อากาศบริสุทธิ์และทำจิตใจให้แจ่มใส แต่ด้วยการใช้ชีวิตในปัจจุบัน เทคโนโลยีที่ทันสมัยอาจทำให้มีการขยับร่างกายน้อยลง ไม่มีเวลาเลือกอาหารที่ดี ใช้เวลาหมดไปกับโซเชียลมีเดีย นอนดึก และมีความเครียดสะสม ส่งผลให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมากมาย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ เป็นต้น
การตรวจสุขภาพประจำปี เป็นอีกกุญแจสำคัญของการมีสุขภาพดี ซึ่งปกติเราทุกคนควรได้รับการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง เป็นการเข้ารับการตรวจร่างกายโดยยังไม่มีความผิดปกติใดๆ หรืออาจมีอาการเพียงเล็กน้อยโดยยังไม่ปรากฏอาการผิดปกติ นอกจากนี้ยังเป็นการค้นหาโรคหรือแนวโน้มการเกิดโรค รวมถึงโรคร้ายแรงในระยะเริ่มต้น
การตรวจสุขภาพประจำปีช่วยให้ผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเกิดโรคหรือมีอาการเพียงเล็กน้อยสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันโรค ช่วยลดความรุนแรงของโรคและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้
อายุ 45 ปีขึ้นไป ควรส่องกล้องลำไส้ใหญ่
การตรวจสุขภาพประจำปีของแต่ละช่วงวัยมีโปรแกรมแตกต่างกัน เช่น ในอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป ผู้ชายควรตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก ผู้หญิงควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม และทั้งผู้หญิงและผู้ชายควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยวิธีส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ซึ่งมีการศึกษาพบว่าสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
นอกจากนี้การส่องกล้องลำไส้ใหญ่โดยไม่ต้องรอให้มีอาการ ยังช่วยประเมินปัญหาที่เกิดขึ้นบริเวณลำไส้ใหญ่ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น หากพบความผิดปกติ แพทย์สามารถให้การรักษาได้ทันก่อนโรคลุกลาม
ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ต้องทำเป็นประจำทุกปีหรือไม่
ข้อมูลสำคัญทางการแพทย์พบว่า หากส่องกล้องแล้วตรวจพบว่าเป็นติ่งเนื้อขนาดเล็ก (polyp) ชนิด adenoma บริเวณลำไส้ใหญ่ ถือว่าเป็นระยะก่อนมะเร็ง (pre-cancerous lesion) ซึ่งมีโอกาสดำเนินโรคเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ในเวลา 3-5 ปี มากถึง 90%
ดังนั้น หากตรวจพบติ่งเนื้อขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตร แนะนำให้ตรวจซ้ำทุก 3-5 ปี หากพบว่าติ่งใหญ่กว่า 1 เซนติเมตรอาจตรวจทุก 1-3 ปี สำหรับผู้ที่ไม่พบติ่งเนื้อควรกลับมาตรวจอีกครั้งใน 5-10 ปี
อย่างไรก็ตาม ผู้มีความเสี่ยงเนื่องจากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ แนะนำให้นำอายุเมื่อเริ่มเป็นมะเร็งของคนในครอบครัวหรือเครือญาติใกล้ชิด ลบด้วย 10 จะเป็นอายุที่ควรเข้ารับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ เช่น หากพ่อเป็นมะเร็งตอนอายุ 40 ปี ลบออกด้วย 10 จะเหลือ 30 ดังนั้น ลูกควรเข้ารับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่เมื่อมีอายุ 30 ปี โดยไม่ต้องรอให้มีอาการ เพราะถือว่ามีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติ
การเตรียมตัวส่องกล้องลำไส้ใหญ่
การเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือการส่องกล้อง จำเป็นต้องพบแพทย์ก่อนทุกครั้ง เพื่อให้ข้อมูลประวัติส่วนตัว เช่น โรคประจำตัว ประวัติแพ้ยา รวมถึงยาที่รับประทานเป็นประจำ อีกทั้งแพทย์จะให้ข้อมูลการเตรียมตัวส่องกล้อง รวมถึงตอบคำถามและข้อสงสัยต่างๆ เมื่อผู้เข้าตรวจตกลงจะเข้ารับการส่องกล้องแล้ว พยาบาลจะทำนัดเพื่อส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่อีกครั้ง โดยมีการเตรียมตัว ดังนี้
- งดน้ำและอาหารก่อนเข้ารับการส่องกล้องอย่างน้อย 6 ชั่วโมง
- เมื่อถึงโรงพยาบาล แพทย์ทำการซักประวัติส่วนตัว เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับโรคประจำตัว ประวัติแพ้ยา รวมถึงยาที่รับประทานเป็นประจำ
- รับประทานยาระบาย เพื่อขับถ่ายให้ลำไส้สะอาด โดยขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง
- แพทย์ให้ยานอนหลับ กรณีเป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว อาจใช้วิธีการดมยานอนหลับ ชนิดไม่รุนแรงและหมดฤทธิ์ได้เร็ว
- แพทย์ใช้เวลาส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ประมาณ 20-30 นาที
- กรณีพบติ่งเนื้อหรือความผิดปกติอาจใช้เวลาประมาณ 45-60 นาที
- การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทั้งกระบวนการใช้เวลาประมาณครึ่งวัน
การรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงความเครียด เป็นสิ่งสำคัญในการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง
นอกจากนั้น การตรวจสุขภาพประจำปีก็เป็นตัวช่วยให้ตรวจพบแนวโน้มความเสี่ยงการเกิดโรคในระยะเริ่มต้น ซึ่งทำให้การป้องกันและรักษาง่ายขึ้น ก่อนโรคลุกลามจนหมดทางรักษา
ทั้งนี้ นอกจากการตรวจสุขภาพประจำปีพื้นฐานทั่วไปแล้ว เมื่ออายุมากขึ้นควรเพิ่มการตรวจคัดกรองที่เหมาะสมตามวัย โดยเฉพาะการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่ออายุ 45 ปี ซึ่งด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยในปัจจุบัน ทำให้การตรวจทำได้ง่าย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เราจึงควรเข้ารับการตรวจแต่เนิ่นๆ เพราะมะเร็งลำไส้ใหญ่ ยิ่งตรวจพบเร็วยิ่งเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้มากขึ้น