8 เคล็ดลับ ฝึกตัวเองให้ "ออกกำลังกาย" จนเป็นนิสัย
เชื่อว่าทุกคนรู้ดีว่าการออกกำลังกายนั้นดีต่อร่างกาย ถือเป็นพฤติกรรมด้านบวกที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ หลายคนก็คิดอยากที่จะเริ่มต้นออกกำลังกายอย่างจริงจังดูบ้าง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเพราะอยากลดน้ำหนัก ลดความอ้วน อยากแข็งแรง อยากสุขภาพดี ถึงกระนั้น แค่คิดๆ ในหัวมันก็คงดูเหมือนง่าย แต่พอลงมือทำจริงๆ ปัญหาที่คนส่วนใหญ่เจอเหมือนๆ กันก็คือ ยากที่จะบังคับให้ตนเองลุกไปออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
คนที่เคยลองมาแล้วแล้วพบว่ามันล้มเหลว อาจเป็นเพราะการออกกำลังกายนั่นไม่ได้ทำอย่างต่อเนื่อง ท้อแท้หมดแรงบันดาลใจไปก่อน หรืออาจมีเงื่อนไขหรืออุปสรรคเรื่องต่างๆ ที่เข้ามาขัดขวางตลอด ทำให้การออกกำลังกายที่เคยวางแผนไว้ดิบดีไม่เป็นไปตามที่คิด ส่วนอีกหลายต่อหลายคนยังเริ่มต้นไม่ได้ด้วยซ้ำไป เพราะก็ไม่แน่ใจตัวเองว่าจะทำได้นานแค่ไหน นี่แหละ ความยากของการออกกำลังกายที่หลายคนน่าจะเคยเผชิญ
แต่…นิสัยที่รักการออกกำลังกายนั้นไม่ได้ติดตัวมาตั้งแต่เกิดเสียหน่อย มันเป็นสิ่งที่เราต้องค่อยๆ สร้างมันขึ้นมาเอง Tonkit360 จึงมี 8 เคล็ดลับที่จะช่วยพัฒนาการออกกำลังกายให้กลายเป็นนิสัย หากค่อยๆ ปฏิบัติตามนี้ เราอาจจะกลายเป็นคนที่รักการออกกำลังกายเป็นชีวิตจิตใจ และทำมันอย่างต่อเนื่องจนเป็นนิสัยได้ในไม่ช้า
- จิตใจที่ต้องมีวินัยในตัวเอง
ก่อนอื่น ต้องเริ่มต้นหาวินัยในตัวเองก่อน เพราะการจะพัฒนาการออกกำลังกายให้กลายเป็นนิสัย ไม่มีใครสามารถบังคับเราได้ มันอยู่ที่ความตั้งใจของเราเองล้วนๆ เลย แต่แค่ความตั้งใจมันไม่มากพอที่จะส่งเราไปถึงเป้าหมาย เราต้องมีวินัยที่จะควบคุม บังคับ รับผิดชอบตัวเองให้อยู่ในทิศทางที่จะมุ่งหน้าหาเป้าหมาย หากไม่มีก็ไม่มีทางทำอะไรสำเร็จได้หรอก ตกม้าตายตั้งแต่เริ่มต้นด้วยซ้ำ ทั้งนี้ต้องรู้ว่าอะไรจะต้องเข้มงวดและอะไรควรจะยืดหยุ่น
- กำหนดวันเวลาที่แน่นอน แล้วตั้งเตือนไว้ให้เหมือนนาฬิกาปลุก
การจะพัฒนาให้การออกกำลังกายกลายเป็นนิสัย เราก็ต้องสร้างให้มันเป็นส่วนหนึ่งในกิจวัตรที่ต้องทำทุกวัน อาจกำหนดให้การออกกำลังกายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน แทรกช่วงเวลาที่ต้องออกกำลังกายเข้ามาเป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวัน แล้วตั้งแจ้งเตือนไว้ให้เหมือนกับนาฬิกาปลุกที่ปลุกเราตื่นนอน การที่เรากำหนดเวลาที่แน่ชัดไปเลยว่าต้องไปออกกำลังกายนะ จะช่วยให้เราทำตามลิสต์รายการสิ่งที่ต้องทำประจำวันได้ง่ายขึ้น งอแงน้อยลง
- มีเป้าหมายที่แน่ชัดและมีรางวัลจูงใจให้ตัวเอง
คนส่วนใหญ่ชอบตั้งเป้าหมายไว้สูงเกินไป เพราะไม่ประเมินตนเองก่อน เข้าใจได้ว่าต้องการแพชชันแรงๆ เพื่อที่จะได้ใช้ขับเคลื่อน แต่ก็อยู่บนเงื่อนไขว่าต้องเหมาะสมกับตนเอง โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้น อย่าเพิ่งตั้งเป้าหมายสูงเกินเอื้อม (ให้มองเป็นเป้าหมายที่ชัดเจน) การประสบความสำเร็จกับเป้าหมายเล็กๆ จะช่วยให้เรามีกำลังใจที่จะก้าวสู่เป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และควรมีสินบนให้กับตัวเองเพื่อจูงใจด้วย มันจะน่าเบื่อน้อยลง ดูน่าสนุก และท้าทายมากขึ้น
- ค่อยๆ เพิ่มความหนัก
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เพิ่งเริ่มต้น ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อนเลย อย่าเพิ่งหักดิบตัวเอง หักโหมออกกำลังอย่างหนักหน่วงในช่วงแรก เพราะมีโอกาสสูงที่จะทำให้รู้สึกท้อจนล้มเลิกความตั้งใจไปเสียก่อน ให้ใช้วิธีค่อยๆ เพิ่มความหนักและความนานเข้าไปทีละน้อยจะทนได้ดีกว่า หลังผ่านช่วงเวลาหนึ่งๆ ไปแล้ว เมื่อปรับตัวได้แล้วก็ค่อยๆ เพิ่มเข้าไป ออกหนักขึ้น ใช้เวลานานขึ้น ซึ่งมีข้อดี ตรงที่เราได้ทำมันอย่างสม่ำเสมอนั่นเอง
- ทำให้สม่ำเสมอ
ความต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เป็นหัวใจของการทำบางอย่างจนเคยชินและกลายเป็นนิสัยในที่สุด ฉะนั้น ถ้าเราอยากให้การออกกำลังกายของเรากลายเป็นนิสัยที่เราต้องทำทุกวัน เราต้องเริ่มจากการทำมันซ้ำๆ จนกว่าจะกลายเป็นความเคยชิน แล้วติดเป็นนิสัย ไม่ใช่ทำแบบผลุบๆ โผล่ๆ อยากทำก็ทำ ขี้เกียจก็ไม่ทำ เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับวินัยของแต่ละคนว่าบังคับและรับผิดชอบตัวเองได้ดีแค่ไหน ถ้าถามว่าต้องใช้เวลานานแค่ไหน บอกเลย 2 เดือนเป็นอย่างต่ำ
- หารูปแบบการออกกำลังกายที่ชอบจริงๆ
อะไรก็ตามที่ต้องฝืนใจทำ เราอดทนทำได้ไม่นานหรอกเดี๋ยวก็เบื่อ หมดแพชชัน สุดท้ายก็จะเลิกไป เพราะมันไม่สนุกแถมรู้สึกทรมานอีกต่างหาก ดังนั้น ให้เริ่มตั้งเป้าการออกกำลังกายจากสิ่งที่เราชอบหรือสนุกจะดีที่สุด หาว่ารูปแบบการออกกำลังกายที่ตัวเองชอบ ถนัด หรือรู้สึกว่าอยู่กับมันได้นานๆ คืออะไร แล้วไปเลือกออกกำลังกายประเภทนั้น เชื่อได้เลยว่าเราจะเพลิดเพลินกับการออกกำลังกายจนลืมสนใจเวลาเลยล่ะ
- เลิกลีลา หยุดรีรอ ทำทันที
ถ้ามีเป้าหมายแน่วแน่ชัดเจน ให้ลงมือทำทันที เลิกลีลารีรอหรือเอาแต่ผัดวันประกันพรุ่ง หลายคนชอบรอเริ่มต้นทำอะไรแบบนี้ในช่วงโอกาสสำคัญๆ พอถึงช่วงเวลานั้นจริงๆ ไฟที่เคยแรงก็มอดลงเกือบหมดแล้ว ความตั้งใจที่เคยมั่นใจมากๆ ก็หายไปกว่าครึ่ง กว่าจะจูนตัวเองให้กลับมาจริงจังได้ใหม่ก็เสียเวลากระตุ้นตัวเองอีก การออกกำลังกายถ้าอยากทำก็ทำเลยไม่ต้องรอโอกาสหรือฤกษ์งามยามดีอะไร คิดเสียว่าเริ่มเร็วโอกาสเข้าใกล้เป้าหมายก็เร็วตาม
- จดบันทึกการทำกิจกรรมและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
เพราะการจดบันทึกการทำกิจกรรมที่เราทำ ช่วยให้เราเห็นพัฒนาการ ความคืบหน้า และความเปลี่ยนแปลง ทั้งยังเห็นถึงความสามารถและความตั้งใจของตนเองได้อย่างชัดเจน เมื่อถึงจุดหนึ่ง จะได้ท้าทายตัวเองให้สูงขึ้นไปอีก แล้วดูว่าจะสามารถทำได้ดีกว่าเดิมแค่ไหน กิจกรรมและความคืบหน้าที่เราบันทึกไว้อย่างเป็นรูปธรรม จะเป็นแรงผลักดันให้เราเดินหน้าต่ออย่างตั้งใจ เราจะออกกำลังกายได้มากขึ้น อยากทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆ และรู้สึกกระตือรือร้นที่ได้ออกแรง