โรคไข้กาฬหลังแอ่น ( Meningococcal Meningitis )

โรคไข้กาฬหลังแอ่น ( Meningococcal Meningitis )

โรคไข้กาฬหลังแอ่น ( Meningococcal  Meningitis )
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรคไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal Meningitis) เป็นโรคติดต่ออันตรายที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Neisseria Meningitidis ที่อาศัยอยู่ในลำคอและจมูกของผู้ป่วยและผู้ที่เป็นพาหะของโรค โรคนี้เป็นทั้งโรคประจำถิ่นและอาจมีการระบาดเป็นช่วงๆ ซึ่งการระบาดจะไม่จำกัดตามลักษณะภูมิประเทศ ไม่มีรูปแบบของการเกิดโรคตามฤดูกาล จะระบาดได้ตลอดทั้งปีและพบได้ทุกกลุ่มอายุ แต่มักพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ โดยจะพบมากขึ้นในกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างหนาแน่นและแออัด สำหรับในประเทศไทยจะพบผู้ป่วยประปรายตลอดทั้งปี และจะพบมากขึ้นในฤดูฝน

การติดต่อ โรคนี้สามารถติดต่อได้โดยตรงจากการไอ จาม หายใจรดกันในระยะใกล้ชิด และจากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ หรือใช้ของใช้ร่วมกับผู้ป่วยหรือผู้ที่เป็นพาหะ ในผู้ที่เป็นพาหะเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญมากเพราะเป็นกลุ่มที่มีการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ แต่โรคสามารถติดต่อได้ตลอดเวลาที่มีเชื้อในจมูกหรือคอ สำหรับผู้ที่ป่วยระยะแพร่เชื้อ คือ ระยะ 7 วันก่อนผู้ป่วยมีอาการ และระหว่างที่มีอาการก่อนได้ยาปฏิชีวนะครบ 24 ชั่วโมง

ระยะฟักตัว ประมาณ 2 – 10 วัน เฉลี่ย 3 – 4 วัน

อาการและอาการแสดง มีไข้สูงทันที หนาวสั่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน เจ็บคอ คอแห้ง-แดง คอแข็ง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อ และมักมีผื่น เลือดออกใต้ผิวหนัง (Petechial rash) ร่วมกับมีแต้มสีชมพูหรือมีจ้ำเลือดขึ้นตามตัว แขน ขา ในรายที่เป็นรุนแรงผู้ป่วยจะซึม ชัก และช็อก เสียชีวิตได้ภายใน 24 ชั่วโมง หลังเริ่มมีอาการ แต่ถ้าได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีจะทำให้ลดอัตราการเสียชีวิตลงได้

การป้องกันและควบคุมโรคควรปฏิบัติดังนี้

1. การป้องกัน
1.1 จัดสภาพที่อยู่อาศัยให้สะอาด ไม่แออัด
1.2 ไม่สัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยหรือไม่สัมผัสกับเสมหะหรือน้ำลายของผู้ป่วย

2. การควบคุม
2.1 รายงานต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในท้องถิ่นให้ทราบกรณีพบผู้ติดเชื้อ
2.2 เผากระดาษเช็ดน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย
2.3 ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อแช่เสื้อผ้า เครื่องใช้ ก่อนทำความสะอาด

สำหรับวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่นยังไม่มีความจำเป็นสำหรับคนทั่วไป เนื่องจากประเทศไทยไม่ใช่แหล่งระบาดของโรคนี้ และวัคซีนที่สามารถป้องกันได้มี 4 กลุ่ม คือ A ,C ,Y และ W 135 ซึ่งเชื้อที่พบบ่อยในประเทศไทยไม่ตรงกับเชื้อทั้ง 4 กลุ่มที่มีอยู่ในวัคซีนนี้ วัคซีนจำเป็นใช้สำหรับบุคคลที่จะเดินทางไปยังท้องถิ่นที่มีการระบาด เช่น ประเทศซาอุดิอาระเบีย แอฟริกา พม่า กัมพูชา เวียดนาม เป็นต้น โดยสามารถรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคได้ในสถานที่ต่อไปนี้

- โรงพยาบาลบำราศนราดูร โทร. 0-2590-3430, 0-2590-3422 หรือ 0-2590-3427
- ดอนเมือง โทร. 0-2535-1482
- ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าเรือกรุงเทพฯ คลองเตย โทร. 0-2249-4110
- สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 14 จังหวัดในภาคใต้
- กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข โทร. 0-2590-3182
- กลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ในบริเวณกองตรวจคนเข้าเมือง ถนนสาธรใต้ โทร. 0-2286-5114

ข้อแนะนำ สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันก่อนเดินทางอย่างน้อย 10 วัน และไม่เกิน 2 ปี

 

อ้างอิง

สมมาส มิตรอารีย์.(2522).ไข้กาฬหลังแอ่น.(พิมพ์ครั้งที่ 1).กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์อักษรสาสน์.

ประวิทย์ สุนทรสีมะ.(2521).ไข้กาฬหลังแอ่น.(พิมพ์ครั้งที่ 1).กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์จูจีนไทย.

สมศักดิ์ โล่ห์เลขา.(2540).วัคซีนใหม่จำเป็นต้องใช้หรือไม่.ใน ประเวศ วะสี(บรรณาธิการ),หมอชาวบ้าน(ปีที่ 19 ฉบับที่223,หน้า 15-16).กรุงเทพฯ: บริษัทพิมพ์ดี

ประเสริฐ ทองเจริญ และคนอื่นๆ.(2544).โรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน.

ใน สยมพร ศิรินาวิน และ ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์(บรรณาธิการ), โรคติดต่อ(พิมพ์ครั้งที่ 1,หน้า309-312).กรุงเทพ:โหลทองมาสเตอร์พริ้นท์

www.md.chula.ac.th

 

งานการพยาบาลป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ
ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
ผู้เรียบเรียง จริยา วิรุฬราช และรุ่งฤดี จิณณวาโส
จัดทำโดยหน่วยแนะแนวและปรึกษาปัญหาสุขภาพ โทร. 0-2201-2520


ขอบคุณข้อมูล จาก http://ramaclinic.ra.mahidol.ac.th/main/?q=node/66

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook