ปวดหลัง-บั้นเอว เป็นๆ หายๆ อาจเสี่ยง "นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ"
หากใครมีอาการปวดหลังช่วงบั้นเอวแบบเป็นๆ หายๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ อาจมีความเป็นได้ว่ากำลังเสี่ยงโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะอยู่
นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ คืออะไร
ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ระบุว่า นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ (Bladder Stone) คือ ก้อนของสาร หรือแร่ธาตุที่ตกตะกอนจากปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะ เกิดจากการที่มีปัสสาวะตกค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ โดยอาการจะรุนแรงแตกต่างกันออกไป เช่น ปวดท้อง หรือปัสสาวะมีเลือดปน
อย่างไรก็ตาม ก้อนนิ่วที่มีขนาดเล็กจะถูกขับออกมาทางปัสสาวะได้เอง และไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ แต่บางรายก็จำเป็นต้องรักษาด้วยการรับประทานยา หรือผ่าตัด เพราะหากปล่อยไว้อาจทำให้ติดเชื้อ หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
สาเหตุของโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะมีสาเหตุทั้งจากพันธุกรรมและพฤติกรรมในการใช้ชีวิตของตัวเอง ดังนี้
- กรรมพันธุ์
- เพศชายเสี่ยงกว่าเพศหญิง
- ต่อมพาราทัยรอยด์ที่หลั่งฮอร์โมนที่ควบคุมสารแคลเซียมทำงานผิดปกติ
- ระบบทางเดินปัสสาวะตีบแคบ ทำให้น้ำปัสสาวะคั่งค้าง อาจเกิดขึ้นตั้งแต่เกิด หรือเพิ่งเกิดตอนโตก็ได้
- ดื่มน้ำน้อยกว่าปกติ หรือสูญเสียน้ำจากร่างกายทางด้านอื่นมาก จนทำให้ปัสสาวะมีความเข้มข้นสูง โอกาสที่สารละลายในปัสสาวะจะตกผลึกก็มีมากขึ้น
- เกิดการอักเสบหรือติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
- ผลข้างเคียงจากการกินยาบางชนิด เช่น ยาลดกรดทำให้ปัสสาวะมีฤทธิ์เป็นด่าง อาจเกิดนิ่วพวกฟอสเฟตได้ง่าย
- กินอาหารที่ทำให้ร่างกายเกิดยูริกมากเกินไป เช่น เครื่องในสัตว์ ยอดผัก สาหร่าย รวมถึงผักที่มีสารออกซาเลตสูง เช่น ผักโขม หน่อไม้ ชะพลู เป็นต้น
อาการของโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
ผู้ป่วยมักไม่ค่อยมีอาการแสดง แพทย์มักตรวจพบได้โดยบังเอิญจากการเอกซเรย์ช่องท้องจากโรคอื่นๆ เช่น ปวดท้อง หรือปวดหลัง
ในรายที่แสดงอาการ จะมีอาการที่พบได้บ่อยคือ
- ปวดท้องน้อยเรื้อรัง อาจร่วมกับปวดหลังเรื้อรัง รวมถึงปวดหลังค่อนไปทางบั้นเอว อาจเคยมีอาการปวดๆ หายๆ
- การปัสสาวะผิดปกติ หรือมีอาการขัดเบา (เนื่องจากก้อนนิ่วลงไปอุดกั้นท่อปัสสาวะ) ทำให้ปัสสาวะกะปริดกะปรอย ปัสสาวะลำบาก ปวดเบ่งคล้ายว่ายังถ่ายปัสสาวะไม่สุด ปวดแสบปวดร้อน ปัสสาวะสะดุดและออกเป็นหยด ปัสสาวะบ่อย หรือปัสสาวะไม่ออก กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- ผู้ป่วยบางรายอาจปัสสาวะออกเป็นเลือดหรือมีสีน้ำตาลล้างเนื้อ หรืออาจถ่ายปัสสาวะเป็นก้อนนิ่ว หรือเม็ดกรวดทรายเล็กๆ หรือปัสสาวะขุ่นขาวเหมือนมีผงแป้งปนอยู่
- หากก้อนนิ่วตกลงไปอุดกั้นท่อปัสสาวะ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องน้อยมาก ปัสสาวะไม่ออก และมีปัสสาวะคั่งอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ
- กระเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อย ทำให้มีอาการปวดท้องน้อย ปวดหลัง ปัสสาวะแสบปวดร้อน โดยเฉพาะตอนปัสสาวะสุด มีไข้ ปวดเนื้อตัว และอาจมีอาการปวดข้อร่วมด้วย
การรักษาโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
การรักษาโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับขนาด และตำแหน่งที่อยู่ของนิ่ว แต่หลักๆ มีวิธีที่ใช้รักษาโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ ดังนี้
- กินยาที่ทำให้นิ่วละลาย สำหรับขนาดนิ่วที่มีขนาดเล็ก
- ใช้คลื่นเสียงความถี่สูงที่มีความจำเพาะ ทำให้เกิดแรงกระแทกที่ก้อนนิ่ว ทำให้ก้อนนิ่วแตกเป็นผง ผงก้อนนิ่วไหลออกมาพร้อมปัสสาวะ
- ผ่าตัดส่องกล้อง โดยเข้าไปกรอ ขบ เพื่อทำให้ก้อนนิ่วแตก สำหรับก้อนนิ่วที่มีขนาดใหญ่กว่า 2 เซนติเมตรที่พบในกระเพาะปัสสาวะ และในไต
- ผ่าตัดโดยการเจาะหน้าท้อง สำหรับก้อนนิ่วในกระเพาะปัสสาวะที่มีขนาดใหญ่กว่า 2 เซนติเมตร