9 อาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น เมื่อ “งดมื้ออาหารเย็น” เพื่อ “ลดความอ้วน”

9 อาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น เมื่อ “งดมื้ออาหารเย็น” เพื่อ “ลดความอ้วน”

9 อาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น เมื่อ “งดมื้ออาหารเย็น” เพื่อ “ลดความอ้วน”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คนส่วนใหญ่มักมีความเชื่อว่า ไม่กินข้าวเย็น เป็นวิธีการลดน้ำหนักที่ได้ผลเร็วและมีประสิทธิภาพ เพราะมื้อเย็นเป็นมื้ออาหารที่ใกล้เคียงกับเวลานอน ดังนั้น แคลอรี่ที่ได้รับจากการกินมื้อเย็นจึงจะไม่ได้ถูกเผาผลาญออกไป แต่การลดน้ำหนักด้วยการไม่กินข้าวเย็น นอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว ยังอาจส่งผลให้น้ำหนักเพิ่ม ทั้งยังส่งผลต่อสุขภาพ เช่น อ่อนเพลีย ไม่มีแรงขณะตื่น รู้สึกหิวอย่างรุนแรงขณะนอนหลับ นอนไม่หลับ กรดไหลย้อน

ไม่กินข้าวเย็น กับผลกระทบต่อร่างกาย

หลายคนเชื่อว่า หากต้องการลดน้ำหนักควรไม่กินข้าวเย็น เพื่อเป็นการลดปริมาณแคลอรี่ส่วนเกินที่ร่างกายได้รับ ก่อนที่จะต้องนอนหลับโดยไม่ได้เผาผลาญพลังงาน แต่หากต้องการลดน้ำหนักอย่างมีประสิทธิภาพและมีสุขภาพดี ควรรับประทานอาหารให้ครบ 3 มื้อ และไม่ควรงดมื้ออาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง

มื้อเย็นเป็นมื้อสุดท้ายของวันก่อนที่จะเข้านอน และในช่วงที่นอนหลับนั้น ร่างกายก็อาจต้องอดอาหารไปอีกเป็นเวลานานอย่างน้อย 10-12 ชั่วโมง ก่อนที่จะถึงเวลากินอาหารมื้อเช้า ช่วงระยะเวลาที่ยาวนี้ร่างกายยังจำเป็นต้องใช้พลังงานอย่างมาก ดังนั้น หากไม่กินข้าวเย็นก็อาจทำให้พลังงานในร่างกายมีไม่เพียงพอ จนทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย หรืออาจส่งผลต่อสุขภาพกายได้ นอกจากนั้น การไม่กินข้าวเย็นอาจทำให้เกิดปัญหาดังต่อไปนี้

  1. อ่อนเพลีย
  2. ไม่กระฉับกระเฉง
  3. ไม่มีแรงขณะตื่นนอน
  4. รู้สึกหิวอย่างรุนแรงขณะนอนหลับ
  5. สะดุ้งตื่นตอนกลางดึก
  6. นอนไม่หลับ
  7. กรดไหลย้อน
  8. ท้องผูก
  9. แสบร้อนกลางอก

นอกจากนี้ การงดมื้อเย็นยังจะทำให้รู้สึกหิว และอยากกินของหวานมากยิ่งขึ้น จนอาจทำให้หาอะไรกินเป็นมื้อดึกแทน กลายเป็นการรบกวนการลดน้ำหนัก และอาจส่งผลให้น้ำหนักขึ้นมากกว่าเดิมได้อีกด้วย

ลองเปลี่ยนจากไม่กินข้าวเย็นมาเป็นลดมื้อเย็น

หากรู้สึกกังวลเกี่ยวกับการกินอาหารเย็น เพราะกลัวว่าจะทำให้ร่างกายได้รับแคลอรี่มากเกินไป และยากต่อการเผาผลาญออก แต่ก็ไม่อยากเสียสุขภาพจากการไม่กินข้าวเย็น อาจจะลองเปลี่ยนจากวิธีการไม่กินมื้อเย็นมาเป็นการลดมื้อเย็นแทน

มีงานวิจัยที่ได้ทำการทดลองเพื่อหาว่า การลดปริมาณการกินอาหารในมื้อไหนที่จะได้ผลดีมากกว่ากัน โดยให้ผู้เข้ารับการทดลองกินอาหารในปริมาณแคลอรี่ที่เท่ากัน แต่ให้กลุ่มหนึ่งกินอาหารเช้าน้อย แต่กินอาหารเย็นมาก กับอีกกลุ่มให้กินอาหารเช้ามาก แต่กินอาหารเย็นน้อย เป็นเวลา 12 สัปดาห์

ผลการทดลองพบว่า กลุ่มของผู้ที่กินอาหารเช้ามาก แต่กินอาหารเย็นน้อยอาจลดน้ำหนักได้มากกว่ากลุ่มที่กินอาหารเช้าน้อย แต่กินอาหารเย็นมาก 10% ต่อ 5% นอกจากนี้ ยังสามารถลดระดับของไตรกลีเซอไรด์ในเลือดได้มากถึง 33.6% ในขณะที่กลุ่มที่กินอาหารเย็นมาก จะมีระดับไตรกลีเซอไรด์เพิ่มขึ้น 14%

ดังนั้น หากต้องการลดน้ำหนักอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่จำเป็นต้องอดอาหาร ลองหันมาใช้เป็นวิธีการลดมื้อเย็นแทน นอกจากนี้ อย่าลืมควบคุมปริมาณแคลอรี่ที่ได้รับในแต่ละวัน เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ และไม่ควรลืมออกกำลังกาย เพื่อทำให้การลดน้ำหนักมีประสิทธิภาพสูงสุด และไม่เกิดโยโย่ เอฟเฟกต์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook