หาก “ดื่มน้ำน้อย” จะเกิดผลเสียอย่างไรต่อร่างกายบ้าง
ใน 1 วันเราควรดื่มน้ำให้ได้ 6-8 แก้ว หากใครรู้ตัวว่ากินน้ำไม่เพียงพอต่อวัน ลองดูผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อร่างกายที่อาจเกิดขึ้นได้
ทำไมเราถึงต้องดื่มน้ำให้เพียงพอ
ร่างกายของเรา มีน้ำเป็นส่วนประกอบถึง 70% โดยน้ำที่ประกอบอยู่ในเซลล์ประมาณ 60% มีอยู่นอกเซลล์ประมาณ 30% และที่อยู่ในเนื้อเยื่อ หรือเลือดอีก 10% เหตุนี้จึงทำให้มนุษย์ต้องการน้ำ ประมาณ 2–3 ลิตรต่อวัน ในทางกลับกัน แต่ละวันร่างกายก็มีการขับน้ำออกในลักษณะของปัสสาวะ 0.5-2.3 ลิตร นอกจากนั้นยังมีการขับน้ำออกทางเหงื่อ อุจจาระ และลมหายใจ
หากดื่มน้ำน้อย จะส่งผลอย่างไรต่อร่างกายบ้าง
- อาจทำให้เลือดของเรามีความหนืดและข้นขึ้น ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อการไหลเวียนของเลือดไปตามส่วนต่างๆ ในร่างกาย
- อาจทำให้มีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลียเรื้อรัง มีเสียงในหู ความจำเสื่อม เป็นต้น
- อาจมีอาการทางตา เช่น มีเลือดคั่งที่ตา สูญเสียการมองเห็น
- มีกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด
- มีการอักเสบเนื่องจากหลอดเลือดดำอุดตัน แต่อาจจะรวมกับปัจจัยอื่นๆ เช่น ไขมันในเลือดสูง
- อาจเสี่ยงอาการท้องผูก สาเหตุหลักๆ ก็คือ การขาดตัวกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ กินอาหารที่ขาดใยอาหาร หรือดื่มน้ำน้อย อุจจาระจึงแข็งและลำอุจจาระเล็ก ลำไส้จึงบีบตัวลดลงอุจจาระจึงเคลื่อนตัวได้ช้า การรักษาที่สำคัญ คือ การกินอาหารมีใยอาหารสูง เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชต่างๆ และดื่มน้ำสะอาดอย่างพอเพียง หากปล่อยให้เกิดอาการท้องผูกเรื้อรังอาจก่ออาการลำไส้อุดตัน เกิดมะเร็งลำไส้ ได้ในที่สุด
- อาจจะทำให้ไตไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากว่าไตต้องทำหน้าที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น กำจัดสารพิษ ดูดสารอาหารที่มีประโยชน์กลับคืนเข้าสู่ร่างกาย ควบคุมระดับความเป็นกรด ด่าง ของของเหลวในร่างกาย กำจัดของเสียส่วนเกินแล้วขับออกทางปัสสาวะ สร้างฮอร์โมนที่เป็นตัวกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงและวิตามินดี ฯลฯ เมื่อได้รับน้ำไม่เพียงพอ ไตก็จะไม่สามารถทำหน้าที่ดังที่กล่าวได้ดี จึงเสี่ยงต่อโรคต่างๆ โดยเฉพาะนิ่วในไต และย่อมส่งผลเสียต่ออวัยวะต่างๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะตับที่ต้องมารับทำหน้าที่แทน
- อาจเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง ผิวพรรณไม่สดใส ตะคริว และโรคอ้วนอีกด้วย ทั้งนี้ สำหรับคนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไต ที่มีอาการบวมน้ำต้องควบคุมปริมาณน้ำดื่มในแต่ละวันตามที่คุณหมอกำหนด
เราควรดื่มน้ำมากแค่ไหน
ปกติแล้วเราควรดื่มน้ำให้ได้วันละ 6-8 แก้วต่อวัน แต่ทั้งนี้จำนวนน้ำที่เราต้องการในแต่ละวัน จึงขึ้นอยู่กับกิจกรรมในแต่ละวันของแต่ละคน รวมถึงสภาพแวดล้อม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้นๆ ด้วย เช่น
- อากาศที่ร้อน และแห้ง ร่างกายจะสูญเสียน้ำทางผิวหนังและลมหายใจมากกว่าปกติ ดังนั้น ผู้ที่อยู่กลางแจ้งและในห้องปรับอากาศที่เย็นจัดจะต้องการน้ำมากกว่าคนที่อยู่ในที่ร่มหรือในห้องที่อุ่นสบาย
- ผู้ที่ออกกำลังกาย มีไข้ ท้องเสีย อาเจียนก็ควรดื่มน้ำเพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำด้วย
ดื่มน้ำอย่างไร ถึงจะดีต่อสุขภาพ
- ดื่มน้ำทีละนิด แบบจิบทีละ 2–3 อึก จิบบ่อยๆ ไปตลอดทั้งวัน ซึ่งจะดีกว่าการดื่มน้ำครั้งละมากๆ เพราะเป็นการเพิ่มภาระให้กับระบบขับถ่าย อย่าง ไต ปอด ม้าม และระบบย่อยอาหาร อีกทั้งร่างกายจะดูดซึมไม่ทัน และขับออกมาเป็นปัสสาวะ แม้ดื่มน้ำเข้าไปมากก็ยังรู้สึกหิวน้ำอยู่บ่อยๆ
- ดื่มน้ำทันทีหลังจากตื่นนอน โดยตอนเช้าควรดื่มน้ำอุ่นทันที 2 แก้ว เพื่อช่วยให้ขับถ่ายอุจจาระได้ดี
- ดื่มน้ำทุกครั้งที่รู้สึกกระหาย
- ไม่ควรดื่มน้ำเกินครึ่งแก้วก่อนรับประทานอาหาร 15 นาที และภายใน 40 นาทีหลังมื้ออาหาร เนื่องจากทำให้น้ำย่อยเจือจางลง ส่งผลต่อระบบการย่อยอาหาร