รู้จัก “อัลปราโซแลม” ยารักษาโรคทางจิต-ประสาท แต่ถูกใช้ทำเป็น “ยาเสียสาว”

รู้จัก “อัลปราโซแลม” ยารักษาโรคทางจิต-ประสาท แต่ถูกใช้ทำเป็น “ยาเสียสาว”

รู้จัก “อัลปราโซแลม” ยารักษาโรคทางจิต-ประสาท แต่ถูกใช้ทำเป็น “ยาเสียสาว”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปกติแล้ว ยาอัลปราโซแลม (Alprazolam) เป็นยาใช้รักษาอาการวิตกกังวล ช่วยให้นอนหลับได้สนิทในคนที่มีปัญหา แต่มีการนำมาใช้ในทางที่ผิด จนหลายคนเข้าใจว่าเป็น "ยาเสียสาว"

ยาอัลปราโซแลม คืออะไร

ผศ.นพ.สุวิทย์  เจริญศักดิ์ แพทย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่า ยา อัลปราโซแลม (Alprazolam) เป็นยาที่สั่งจ่ายให้ผู้ป่วยเพื่อบรรเทาหรือรักษาอาการวิตกกังวลและอาการตื่นตระหนก หรือใช้เป็นยานอนหลับในกรณีที่จำเป็นที่มีประสิทธิภาพดีในทางรักษา และยังใช้คลายกล้ามเนื้อลาย (muscle relaxants) และต้านอาการชัก (antiepileptics) ได้อีกด้วย

ยาอัลปราโซแลมที่แพทย์ใช้มีอยู่ 3 ขนาด คือ 0.25 มิลลิกรัม 0.5 มิลลิกรัม และขนาด 1 มิลลิกรัม โดยมีรูปร่างเม็ดรี สีที่เฉพาะตามขนาด คือสีขาว สีชมพู และสีม่วง ตามลำดับ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเลือกขนาดยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป ยานี้ออกฤทธิ์เร็วหลังจากรับประทานไปประมาณ 20 นาที

ยาอัลปราโซแลม ในคราบของยาเสียสาว

ผลข้างเคียงจากยาอัลปราโซแลม คือ 

  • ทำให้สูญเสียความทรงจำชั่วขณะ (anterograde amnesia) ความสามารถในการเรียนรู้ และความจำลดลง 
  • สมรรถภาพในการทำงานที่ต้องใช้ความชำนาญ หรือการตัดสินใจฉับพลันเสื่อมลง

การใช้ยาอัลปราโซแลม พบว่าผู้ที่ใช้ยาอาจมีอาการหลงลืม โดยจะจำเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ได้หลังจากที่รับประทานยาไป ทำให้เป็นที่มาในการใช้ยานี้เพื่อล่วงละเมิดทางเพศ เพราะเหยื่อจะจำเหตุการณ์ไม่ได้ แต่ฤทธิ์ของยาจะคงอยู่ไม่เกิน 1 วัน และถ้าดื่มน้ำมากๆ ยาก็จะถูกขับออกมาทางปัสสาวะจนหมด  

อันตรายจากการใช้ยาอัลปราโซแลม

นอกจากการลักลอบใช้ยาอย่างไม่ถูกวิธีแล้ว ยาอัลปราโซแลมยังมีผลข้างเคียงและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนี้

  1. การใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดการติดยาได้ทั้งร่างกายและจิตใจ
  2. อาจเกิดผลตรงข้ามกับฤทธิ์ของยาที่ให้ (paradoxical reaction)
  3. อาจทำให้เกิดความผิดปกติของเม็ดเลือด ตับ หรือไตได้
  4. หากหยุดยากะทันหันจะเกิดอาการขาดยา มีอาการคลื่นไส้ นอนไม่หลับ หัวใจเต้นเร็ว กระสับกระส่าย ซึมเศร้า เป็นโรคจิต หรืออาจถึงกับชักได้
  5. หากต้องรับประทานร่วมกับยาตัวอื่น เช่น ยากดหรือกระตุ้นประสาท ต้องปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะมียาหลายชนิดที่มีปฏิกิริยาต่อระดับอัลปราโซแลมในกระแสเลือดจนทำให้เกิดอันตรายอย่างรุนแรงได้ 
  6. หากรับประทานยาพร้อมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาจะออกฤทธิ์ทำให้กดประสาทมากขึ้นและอาจกดการหายใจ ส่งผลให้หยุดหายใจได้
  7. สตรีมีครรภ์ สตรีระยะให้นมบุตร โรคต้อหิน โรคไมแอส ตีเนียแกรวีส (myasthenia gravis) โรคพอร์ไฟเรีย (porphyria) หรือโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ควรใช้ด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ
  8. หากมีอาการนอนไม่หลับ ประสาทหลอน พฤติกรรมผิดปกติ กล้ามเนื้อเปลี้ย หรือมีไข้ ควรหยุดใช้ยาทันทีและรีบปรึกษาแพทย์

ดังนั้นการใช้ยากลุ่มนี้ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ที่เชี่ยวชาญ มีข้อบ่งชี้ในการใช้และติดตามว่ายังมีความจำเป็นในการใช้อยู่หรือไม่ หยุดใช้เมื่อเหมาะสม

วิธีระมัดระวังในการใช้ยาอัลปราโซแลมในทางที่ผิด

ปัจจุบันมีการควบคุมการใช้ยาอัลปราโซแลมอย่างเข้มงวด ทั้งนี้เพื่อป้องกันการใช้ยาในทางที่ผิด โดยยาอัลปราโซแลมถูกควบคุมให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559

หากยาอัลปราโซแลมอยู่ในมือของแพทย์ก็จะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อชีวิตมนุษย์ แต่หากอยู่ในมือของผู้ที่แสวงหาประโยชน์จากผู้อื่นในทางมิชอบ ก็จะกลายเป็นอันตรายต่อชีวิตได้เช่นกัน เนื่องจากยาอัลปราโซแลม เป็นสารประกอบที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า ถ้านำไปผสมในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะทำให้ผู้ที่ดื่มมีอาการง่วงซึม มึนงง สูญเสียการทรงตัวและสูญเสียความทรงจำ ดังนั้นการดื่มเครื่องดื่มต้องระมัดระวังกันมากขึ้น ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มาจากคนแปลกหน้า คนที่ไม่สนิท ไม่น่าไว้วางใจ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแก้วเดิมหลังจากที่ลุกออกจากโต๊ะไปแล้ว รวมถึงไม่ดื่มกับคนที่ไม่น่าไว้วางใจกันสองต่อสอง

หากสงสัยว่าตัวเองอาจถูกวางยาอัลปราโซแลม ให้รีบพาตัวเองออกมาจากคนที่ไม่น่าไว้ใจ และติดต่อขอความช่วยเหลือจากคนอื่นให้เร็วที่สุด รวมถึงพยายามดื่มน้ำมากๆ ให้ยาถูกขับออกมาทางปัสสาวะให้ได้เร็วที่สุดก็จะช่วยได้บ้าง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook