อันตรายของ "บุหรี่" ที่ทำร้ายร่างกายมากกว่า "ปอด"
บุหรี่มีสารมากกว่า 100 ชนิด ที่ส่งผลไม่ดีต่อร่างกาย ทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมามากมาย ยิ่งสูบนานจะทำให้ยิ่งเพิ่มโรค โดยเฉพาะหัวใจและปอดเป็นอวัยวะที่ถูกบุหรี่ทำลายอย่างมาก การตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่ ไม่เริ่มสูบ หรือหากสูบไปแล้วรีบเลิกทันที อีกทั้งตรวจเช็กสุขภาพหัวใจและปอดเป็นประจำทุกปีคือเรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจ
บุหรี่ ทำลาย "ปอด"
นพ. ชาติทนง ยอดวุฒิ อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า สำหรับผู้ที่กำลังสูบบุหรี่หรือเคยสูบบุหรี่ระยะเวลาเฉลี่ยมากกว่า 30 ปีและมากกว่า 1 ซองต่อวัน (หรือเท่ากับ 30 ปีซอง หรือ pack-year) ในช่วงอายุ 55 - 75 ปี หรือสูบบุหรี่ระยะเวลาเฉลี่ยมากกว่า 20 ปีซอง ร่วมกับปัจจัยอื่นๆ อย่างกรรมพันธุ์ มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งปอดได้
บุหรี่ ไม่ได้ทำลายแค่ "ปอด"
1. ทำลายหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง และหลอดเลือดต่างๆ ในร่างกาย
สารอนุมูลอิสระที่เกิดจากควันบุหรี่เป็นตัวการสำคัญที่เข้าไปทำลายโครงสร้างป้องกันตัวเองของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพ โดยเฉพาะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญต่างๆ ของร่างกาย เช่น หลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ ฯลฯ รวมถึงทำให้ผนังหลอดเลือดแดงแข็ง นำไปสู่โรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือด เช่น
- หลอดเลือดหัวใจตีบชนิดเรื้อรัง
- กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
- โรคหลอดเลือดสมอง
- ปวดขาจากหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ
- การโป่งพองของหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้อง
เป็นต้น
ยิ่งเวลาที่พ่นควันบุหรี่ออกมา ผู้ที่สูดควันบุหรี่จะได้รับสารเหล่านี้เทียบเท่ากับคนที่สูบบุหรี่
สัญญาณอันตราย ร่างกายผิดปกติจากการสูบบุหรี่
อาการที่สามารถสังเกตได้เมื่อการสูบบุหรี่ส่งผลต่อหัวใจมี 2 แบบ ได้แก่
- อาการแบบเฉียบพลัน จากการที่เส้นเลือดตีบหรือตัน อาทิ เจ็บหน้าอกทันที ใจสั่น
- อาการแบบค่อยเป็นค่อยไป จากการเกิดหินปูนในหลอดเลือด อาทิ เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก ไม่มีแรง ฯลฯ มาจากการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างออกกำลังกาย เดินขึ้นบันได เดิน เป็นต้น
2. เพิ่มความเสี่ยงความดันโลหิตสูง
สารพิษในบุหรี่ยังกระตุ้นให้มีภาวะความดันโลหิตสูง โดยผู้ที่สูบบุหรี่จะมีความดันโลหิตสูงมากกว่าคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่หลายเท่า โดยเฉพาะความดันโลหิตสูงในคนอายุน้อยที่ไม่มีกรรมพันธุ์ปัจจุบันพบได้มากขึ้น เมื่อความดันโลหิตสูงก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงหลอดเลือดตีบตามอวัยวะต่างๆ ได้ นอกจากนี้ในผู้ที่สูบบุหรี่ปริมาณมากและสูบตั้งแต่อายุยังน้อยพบว่ามีอุบัติการณ์ปัญหาหลอดเลือดตีบตันเร็วกว่าคนทั่วไป
วิธีรักษาโรคปอดจากควันบุหรี่
นพ. ผดุงเกียรติ ตั้งพิรุฬห์ธรรม ศัลยศาสตร์ทรวงอกเฉพาะทางผ่าตัดส่องกล้องปอด โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า เพราะการสูบบุหรี่เทียบได้กับการสูดฝุ่น PM 2.5 เข้าไปในร่างกาย เมื่อบุหรี่ที่สูบส่งผลต่อปอด ได้แก่ หอบ หืด ถุงลมโป่งพองทั้งระยะเริ่มต้นและรุนแรง มีอาการหอบเหนื่อยเฉียบพลันได้ ทั้งยังทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพอง ปอดแตก ปอดรั่วได้ ดังนั้นหากหยุดสูบบุหรี่หรือเลิกสูบบุหรี่ได้ย่อมทำให้การทำงานของปอดดีขึ้น และในผู้ป่วยมะเร็งปอดที่หยุดสูบบุหรี่ได้เกิน 2 สัปดาห์ ความเสี่ยงที่จะเกิดผลแทรกซ้อนหลังผ่าตัดมะเร็งปอดเกือบจะเทียบเท่ากับคนที่ไม่สูบบุหรี่
ทั้งนี้แพทย์แนะนำให้ผู้ที่สูบบุหรี่หรือเคยสูบบุหรี่ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปอดและหลอดเลือดหัวใจด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดโดยใช้รังสีต่ำ (Low Dose CT Chest) ร่วมกับการตรวจหาคราบหินปูนที่หลอดเลือดหัวใจ (CT Coronary Calcium Score) อย่างน้อยทุกๆ 5 ปี แต่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ควรต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปอดทุกๆ ปี เพราะหากพบความผิดปกติ จะช่วยให้สามารถวางแผนการรักษาได้ทันท่วงที โดยข้อดีของการตรวจ คือเข้าเครื่อง CT ครั้งเดียว ตรวจหาความผิดปกติได้ทั้งปอดและหลอดเลือดหัวใจ ไม่ต้องงดน้ำ งดอาหาร ใช้เวลาในการตรวจเพียง 10 - 15 นาที และผลการตรวจสามารถประเมินความเสี่ยงได้ในระยะ 5 ปี
ถึงบุหรี่จะเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญในการทำลายปอดและหัวใจ แต่หากไม่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ การดูแลสุขภาพ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่มีภาวะอ้วน ไม่มีไขมันเกิน คุมเบาหวาน คุมน้ำตาลได้ ก็สามารถทำให้ปอดและหัวใจห่างไกลจากการถูกทำลายได้ แต่การเลิกสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาดก็คือสิ่งที่ดีที่สุด
วิธีการเลิกบุหรี่ที่ได้ผลในระยะยาว
วิธีการเลิกบุหรี่ที่ได้ผลในระยะยาว คือ การตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่และผลเสียต่อร่างกาย ที่นำไปสู่การปรับพฤติกรรมเพื่อเลิกบุหรี่ด้วยตัวเอง เพราะสารพิษในบุหรี่มีผลทันทีเมื่อเริ่มสูบและจะทำให้เกิดการอักเสบในร่างกายอย่างต่อเนื่อง แม้จะเลิกบุหรี่ได้แล้วความเสี่ยงทางสุขภาพก็ยังคงอยู่ ความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับจำนวนและระยะเวลาในการสูบ
ดังนั้นถ้าจะให้ดีที่สุดคือไม่เริ่มสูบ แต่ถ้าเริ่มไปแล้วก็ควรตระหนักและหยุดสูบทันที ในบุหรี่ไฟฟ้าก็ส่งผลเสียกับร่างกายไม่ต่างกับบุหรี่ทั่วไป เข้าถึงง่าย ติดได้ง่ายกว่า ติดได้นานกว่าและความสะดวกสบายในการพกพา จึงควรทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า ไม่ว่าจะบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าก็ไม่ควรเริ่มและควรหยุดสูบเพื่อหยุดเสี่ยง ยิ่งเลิกได้เร็วยิ่งดีต่อตัวเอง