“เจ็บหน้าอก” เสี่ยงโรคอันตรายอะไรบ้าง
อาการเจ็บหน้าอก เป็นสัญญาณเตือนอันตรายของโรคที่เกี่ยวกับหัวใจ รวมถึงโรคในบริเวณใกล้เคียงอื่นๆ ที่เราอาจสังเกตจากอาการที่เกิดขึ้นในเบื้องต้นได้
“เจ็บหน้าอก” เสี่ยงโรคอันตรายอะไรบ้าง
- โรคหลอดเลือดหัวใจ
- โรคของปอด อาทิ โรคปอดบวม ภาวะหลอดเลือดอุดตันในปอด และโรคมะเร็งปอด
- โรคของอวัยวะในช่องท้อง เช่น โรคกรดไหลย้อน โรคกระเพาะอาหารอักเสบ มีแก๊สในกระเพาะอาหารและลำไส้ ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ถุงดีอักเสบ และโรคนิ่วในถุงน้ำดี
- โรคของกระดูก กล้ามเนื้อลำคอและทรวงอก อาทิ โรคกระดูกคอเสื่อม โรคของกล้ามเนื้อหน้าอก หรือโรคกระดูกซี่โครงอักเสบ
- โรคงูสวัด ที่เกิดในส่วนผิวหนังหน้าอก
- ปัญหาทางอารมณ์ จิตใจ เช่น เครียด กังวล โกรธ กลัว และ หรือจากการเรียกร้องความสนใจ
เจ็บหน้าอกแบบไหน เสี่ยงโรคหัวใจ
ในบรรดาโรคต่างๆ ที่มีอาการเจ็บหน้าอกเป็นสัญญาณอันตราย หรือเป็นอาการที่สังเกตได้ในเบื้องต้น มีโรคหัวใจที่อาจต้องการการดูแลอย่างเร่งด่วน เพราะหากหัวใจขาดเลือด หรือหยุดทำงานในช่วงเวลาอันรวดเร็ว อาจส่งผลต่ออวัยวะอื่นๆ ไปจนถึงอันตรายต่อชีวิตเลยทีเดียว
อาการเจ็บหน้าอกที่อันตรายต่อหัวใจ เสี่ยงอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือ Heart Attack มีดังนี้
- อึดอัด บีบแน่น แสบร้อน หรือเจ็บตรงกลางหน้าอก
- ปวด ชา หยิก แทง หรือรู้สึกอึดอัด ร้าวไปแขนซ้าย หรือทั้งสองข้าง ร้าวไปขากรรไกร หรือท้องเหนือสะดือ
- หายใจถี่ หอบเหนื่อย ใจสั่น
- คลื่นไส้หรืออาเจียน จุกแน่นท้อง
- วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด วูบ เป็นลม
- อ่อนเพลีย เหนื่อยล้าผิดปกติ
เจ็บหน้าอก ร่วมกับอาการอื่นๆ
หากมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมกับอาการอื่นๆ อาจมีความเสี่ยงต่อโรคต่อไปนี้
อาการแน่นหน้าอก ที่เกิดจากโรคที่ไม่รุนแรงมาก
- เจ็บแปลบ เวลาหายใจเข้า มีไอ ไข้ และหอบร่วมด้วย มักจะเกิดจากปอดอักเสบ หรือเยื่อหุ้มปอดอักเสบ
- แน่นใต้ชายโครงขวา จุกบริเวณลิ้นปี่ มักจะเกิดจากอาการด้านทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นอาการที่สัมพันธ์กับการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เกิดจากโรคกระเพาะหรือนิ่วในถุงน้ำดี
- เจ็บแปลบ เจ็บจี๊ดๆ ประมาณ 2-3 นาที เวลาที่อยู่เฉยๆ มักจะเกิดจากภาวะความเครียด
อาการแน่นหน้าอกที่เกิดจากความรุนแรง
- มีอาการแน่นหน้าอกข้างใดข้างหนึ่ง หายใจไม่ออก มีอาการทันที มักจะเจอในผู้ที่ตัวผอมสูง เกิดจากลมรั่วในปอด เป็นโรคที่เป็นมาแต่กำเนิด ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที ถ้าปล่อยไว้ทำให้เสียชีวิตได้
- ถ้ามีอาการแน่นหน้าอกดังกล่าว ในกรณีผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคหัวใจมาก่อน ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แต่ถ้าในกรณีเป็นผู้ที่มีโรคหัวใจอยู่แล้ว หากมียาอมใต้ลิ้น ให้รีบอมยา ภายใน 5 นาทีไม่ดีขึ้น ให้รีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
หากมีอาการเจ็บหน้าอกบ่อยๆ มีอาการมากจนรู้สึกแน่นหน้าอก หายไม่ออก หรือมีอาการเจ็บหน้าอกโดยหาสาเหตุไม่ได้ ควรรีบให้แพทย์ตรวจและวินิจฉัยโรคอย่างละเอียด