“ซิฟิลิส” โรคอันตรายที่ไม่ได้ติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างเดียว

“ซิฟิลิส” โรคอันตรายที่ไม่ได้ติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างเดียว

“ซิฟิลิส” โรคอันตรายที่ไม่ได้ติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างเดียว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถึงแม้ว่าซิฟิลิสจะเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อย แต่สาเหตุและการติดต่อของโรคนี้ก็ไม่ได้มาจากเพศสัมพันธ์อย่างเดียวเท่านั้น

ซิฟิลิส คืออะไร

ผศ. นพ.คมกฤช เอี่ยมจิรกุล สาขาวิชาอนามัยการเจริญพันธุ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ซิฟิลิส (syphilis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา แพลลิดัม หรือ Treponema Pallidum เชื้อแบคทีเรียนี้จะอยู่ในเลือดและสารคัดหลั่งต่างๆ จากร่างกาย รวมถึงในน้ำลายด้วย สามารถติดต่อด้วยการสัมผัสกับสารคัดหลั่งต่างๆ เช่น การจูบ มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ใส่ถุงยางอนามัย และรวมถึงการทำออรัลเซ็กซ์ ก็จะทำให้ติดเชื้อได้

ซิฟิลิส ติดต่อกันได้ทางไหนบ้าง

  • มีเพศสัมพันธ์ แบบไม่ใส่ถุงยางอนามัย และรวมถึงการทำออรัลเซ็กซ์
  • ผ่านการสัมผัส แผลติดเชื้อ การจูบกับผู้ป่วย
  • ติดต่อจากแม่สู่ลูก
  • รับเลือดมาจากผู้ติดเชื้อ 
  • สัมผัสเข็มที่ติดเชื้อ

เป็นต้น

อาการของโรคซิฟิลิส

อาการของโรคซิฟิลิส สามารถแบ่งออกตามระยะของโรคที่เป็นอยู่ได้ ดังนี้

  • ระยะที่ 1 (primary syphilis)

อาการที่จะแสดงในระยะแรกคือเกิดแผลริมแข็งเล็กๆ ที่อวัยวะเพศหรือทวารหนัก ผู้ป่วยอาจไม่ทันได้สังเกตหรือไม่รู้ตัว เนื่องจากแผลที่เกิดขึ้นไม่มีอาการเจ็บปวด

  • ระยะที่ 2 (secondary syphilis)

เป็นระยะที่เกิดผื่นขึ้นมาตามตัว ฝ่ามือ และฝ่าเท้า หรือบางครั้งอาจเกิดแผลนูนด้วย

  • ระยะแฝง (latent stage)

ซิฟิลิสระยะนี้ผู้ป่วยจะไม่แสดงอาการที่บ่งบอกว่าเป็นซิฟิลิสเลย ซึ่งอาจเป็นระยะที่แพร่เชื้อได้มากที่สุด

  • ระยะที่ 3 (tertiary stage)

เชื้อจะลุกลามไปยังระบบหัวใจและหลอดเลือด สุดท้ายจะลามไประบบประสาท ซึ่งถ้าไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม อาจอันตรายถึงชีวิตได้

อันตรายของโรคซิฟิลิส

โรคซิฟิลิสมีหลายระยะ และบางระยะอาจจะไม่แสดงอาการใดๆ ออกมาเลย ผู้ป่วยบางคนอาจจะไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อจนกระทั่งเข้าสู่ระยะสุดท้ายแล้วถึงจะแสดงอาการออกมาให้เห็น หากไม่ได้รับการรักษาเชื้อแบคทีเรียจะแพร่กระจายไปทั่วร่างกายอย่างรวดเร็วจนอาจส่งผลต่อสมอง ระบบประสาท อวัยวะต่างๆ ทำงานผิดปกติ หรืออาจจะร้ายแรงถึงขั้นพิการ และเสียชีวิตได้

วิธีป้องกันโรคซิฟิลิส

  1. สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่แน่ใจว่าจะเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือไม่
  2. งดการมีเพศสัมพันธ์ หรือมีความสัมพันธ์ระยะยาวกับคู่นอนเพียงคนเดียวที่ไม่ได้เป็นซิฟิลิส
  3. ไม่สัมผัสกับแผลของผู้ที่ติดเชื้อ
  4. ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับคนอื่น
  5. ตรวจเลือดเมื่อมีความเสี่ยง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook