"เอ็นไขว้หน้าเข่าขาด" ความเสี่ยงของนักกีฬา-อุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน
ในหมู่นักกีฬาหรือคนชอบออกกำลังกาย คงเคยได้ยินเกี่ยวกับเรื่อง ภาวะเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด กันมาบ้าง แต่สำหรับคนทั่วไปอาจจะยังไม่ทราบมากนัก ซึ่งผลเสียของการได้รับข้อมูลที่ไม่เพียงพอจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีภาวะเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที
บทความให้ความรู้ โดย นพ.ธาวิต เจริญโสภา แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์และดูกและข้อ-เวชศาสตร์การกีฬา ศูนย์กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ โรงพยาบาลนวเวช จะมาช่วยตอบคำถามที่หลายท่านมักสงสัย และยังอาจจะไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด (Anterior cruciate ligament : ACL) ที่มากพอ โดยได้อธิบายรายละเอียดไว้อย่างครบถ้วนและชัดเจน
เอ็นไขว้หน้าเข่าขาด (Anterior cruciate ligament : ACL) เป็นภาวะที่พบบ่อยในคนที่เล่นกีฬา หรือแม้แต่ในคนทั่วไปที่ไม่ได้เล่นกีฬาก็อาจเกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน เช่น อุบัติเหตุจราจร ตกบันได เข่าพลิก หรือ เข่าบิด โดยคนไข้มักจะมาด้วยอาการปวดเข่าเฉียบพลันหลังการบาดเจ็บ ได้ยินเสียงดัง หรือ Popping Sound มีอาการปวดเข่า เข่าบวม ไม่สามารถเล่นกีฬาต่อได้ ถ้าไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์เฉพาะทาง อาจไม่สามารถตรวจเจอได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากคนไข้มักจะกลับไปเดินได้หลังจากหายปวดประมาณ 1-2 สัปดาห์
เอ็นไขว้หน้าคืออะไร
เอ็นในเข่า ประกอบด้วย เอ็นหลักๆ อยู่ 4 เส้น แบ่งเป็น 2 เส้น อยู่ด้านข้าง และ 2 เส้นอยู่ในเข่า ซึ่งก็คือ เส้นเอ็นไขว้หน้า และ เส้นเอ็นไขว้หลัง ซึ่งหน้าที่หลักๆ ของเส้นเอ็นในเข่าทุกเส้นคือ เพิ่มความแข็งแรง และความมั่นคงให้กับเข่า
การวินิจฉัยทำอย่างไร
การวินิจฉัยภาวะเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด สามารถทำได้โดย
- การตรวจร่างกายอย่างละเอียด โดยแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งถือเป็นมาตรฐานในการวินิจฉัยภาวะเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด
- การเอกซเรย์ธรรมดา (X-ray) อาจไม่ได้ข้อมูลมากเท่าที่ควร
- การทำ MRI ช่วยให้การวินิจฉัยแม่นยำมากขึ้น นอกจากนั้นยังช่วยในการดูลักษณะการบาดเจ็บในส่วนอื่นๆ เช่น หมอนรองข้อเข่าฉีกขาด กระดูกอ่อนผิวข้อบาดเจ็บ ซึ่งข้อมูลที่ได้จะช่วยวางแผนการรักษาได้อย่างแม่นยำ และครบถ้วน
การรักษาภาวะเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดทำอย่างไรได้บ้าง
การรักษาภาวะเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดแบ่งออกเป็น 2 วิธีใหญ่ๆ คือ
- การรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด วิธีนี้เหมาะกับคนไข้ที่สูงอายุ ไม่ต้องการการออกกำลังกายหนักๆ โดยการรักษาจะเน้นไปที่การเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและความมั่นคงให้กับข้อเข่า แต่ก็มักจะไม่ค่อยเพียงพอ ซึ่งจะทำให้คนไข้มีอาการเข่าหลวมเหลืออยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย
- การรักษาโดยการผ่าตัด ด้วยการทำเส้นเอ็นไขว้หน้าขึ้นมาใหม่ โดยใช้เทคนิคการผ่าตัดส่องกล้อง (Arthroscopic ACL reconstruction) ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดในคนไข้ที่อายุยังน้อย และยังเล่นกีฬาอยู่ เพื่อรักษาการใช้งานของเข่าให้กลับมาใกล้เคียงกับสภาวะปกติให้มากที่สุด
การผ่าตัดแบบส่องกล้องมีข้อดีอย่างไร
ปัจจุบันการผ่าตัดแบบส่องกล้อง เรียกได้ว่าเป็นมาตรฐานการรักษาภาวะเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดไปแล้ว เพราะข้อดีของการผ่าตัดแบบนี้ คือ
- แผลเล็ก เจ็บน้อยกว่า นอนพักฟื้นน้อย
- ทำให้การฟื้นฟูหลังการผ่าตัดได้เร็ว
- สามารถกลับไปเล่นกีฬา หรือใช้ชีวิตปกติได้เร็วกว่าการผ่าตัดแบบเปิดแผล
แต่ข้อเสีย คือ ต้องใช้เครื่องมือในการผ่าตัดเยอะขึ้น แพทย์ที่ทำการผ่าตัด จำเป็นต้องมีประสบการณ์ในการผ่าตัดมากพอ