โรคลิ้นหัวใจ ภัยร้ายใกล้ตัว
อ.นพ.ธีรวุฒิ จันทรวรรณ
ภาควิชาศัลยศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โรคลิ้นหัวใจ คือโรคที่มีพยาธิสภาพเกิดขึ้นกับลิ้นหัวใจ ทำให้ลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ (ลิ้นหัวใจตีบหรือลิ้นหัวใจรั่ว) ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ การทำงานของหัวใจผิดปกติ เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้
โรคลิ้นหัวใจ พบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ พบทั้งในเพศชายและเพศหญิง สาเหตุของโรคลิ้นหัวใจในเด็กแรกเกิดมักเป็นความพิการหรือความผิดปกติแต่กำเนิด ส่วนในวัยผู้ใหญ่มักเป็นโรคลิ้นหัวใจที่เกิดตามหลังไข้รูมาติก (Rheumatic fever and rheumatic heart disease) และในผู้สูงอายุมักเป็นจากความเสื่อมของลิ้นหัวใจตามอายุ ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ที่พบได้ เช่น การติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ ลิ้นหัวใจรั่วจากกล้ามเนื้อหัวใจผิกปกติ เป็นต้น
โดยส่วนมาก ผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจจะมีอาการ อาการแสดง และความรุนแรงของโรคที่ต่างกันขึ้นอยู่กับสาเหตุ พยาธิสภาพ โรคร่วม และระยะเวลาการดำเนินโรค อาการดังกล่าวได้แก่ เหนื่อยง่ายขึ้น ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ เจ็บแน่นหน้าอก เท้าบวม นอนราบไม่ได้ต้องหนุนหมอนสูง บางรายอาจไม่มีอาการแต่แพทย์ฟังได้เสียงหัวใจผิดปกติ (cardiac murmur)โดยบังเอิญ ในบางรายอาจมีอาการอัมพาต จากภาวะลิ่มเลือดไปอุดตันในสมองได้ หากมีอาการหรืออาการแสดงดังกล่าวข้างต้นและไม่แน่ใจถึงสาเหตุความผิดปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม
ปัจจุบัน การตรวจวินิจฉัย และการรักษาผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจ ได้ก้าวหน้าไปมาก โดยการผ่าตัดรักษาโรคลิ้นหัวใจ ทั้งการซ่อมแซม หรือการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม เป็นการรักษาหลักทางหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ป่วยหายขาด หรือฟื้นฟูสภาพได้ดี โดยผู้ป่วยที่จะเข้ารับการผ่าตัดรักษาโรคลิ้นหัวใจมีข้อควรปฏิบัติดังนี้
1. ตรวจเช็คสุขภาพฟันหรือทำฟันให้เรียบร้อยก่อนเข้านอนโรงพยาบาล
2. งดรับประทานยาต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ได้แก่ แอสไพริน (ASA)
3. งดสูบบุหรี่และงดดื่มสุราก่อนผ่าตัดอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์
4. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ควรรับประทานอาหารเค็ม
5. พักผ่อนให้เพียงพอ
6. ให้ญาติพี่น้องหรือเพื่อนมาบริจาคโลหิตให้กับท่าน เพราะการผ่าตัดหัวใจจำเป็นต้องใช้เลือดจากผู้อื่นบริจาค 6-8 คน
7. ต้องเข้านอนโรงพยาบาลก่อนผ่าตัด 1-2 วัน เพื่อเตรียมความพร้อมในการผ่าตัดทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
8. สิ่งที่ท่านต้องเตรียมสำหรับการเข้านอนโรงพยาบาล เช่น ยาที่ผู้ป่วยรับประทานเป็นประจำ หนังสือส่งตัวเพื่อมารักษาต่อที่โรงพยาบาลศิริราช บัตรประชาชนและบัตรประจำตัวผู้ป่วย ของใช้ส่วนตัว และเสื้อผ้า 1 ชุด ที่สำคัญควรมีญาติที่สามารถติดต่อและดูแลท่านได้มาด้วย
ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล