ข้อควรรู้ ก่อน “ผ่าตัดแปลงเพศ” จากชายเป็นหญิง

ข้อควรรู้ ก่อน “ผ่าตัดแปลงเพศ” จากชายเป็นหญิง

ข้อควรรู้ ก่อน “ผ่าตัดแปลงเพศ” จากชายเป็นหญิง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
  • ผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศ ต้องผ่านการประเมินตามข้อกำหนดของ The World Professional Association for Transgender Health (WPATH) recommendations version 7 (Coleman, et al., 2011) ก่อนเท่านั้น 
  • ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดแปลงเพศ ที่ผู้รับการผ่าตัดมักกังวลคือเรื่องของความสวยงามและการรับความรู้สึก ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ขึ้นกับหลายปัจจัย แพทย์ที่มีประสบการณ์ จะสามารถให้คำแนะนำ และเลือกชนิดของการผ่าตัดให้ได้ผลลัพธ์ที่ตรงตามความต้องการ และมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด   

ปัจจุบันเพศทางเลือกมีความหลากหลายและเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้น ขณะเดียวกันการผ่าตัดแปลงเพศก็ได้รับความนิยมและทำกันแพร่หลายมากขึ้นเช่นกัน ในทางการแพทย์เองก็ได้มีการพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดมาโดยตลอด เพื่อให้ได้ผลการผ่าตัดเป็นที่น่าพอใจและลดผลข้างเคียงจากการผ่าตัดให้น้อยที่สุด

การผ่าตัดแปลงเพศ จากชายเป็นหญิง

นพ. วีรวัฒน์ ติรนันท์มงคล ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยกรรมตกแต่ง รพ. สมิติเวช ศรีนครินทร์ ระบุว่า การผ่าตัดแปลงเพศจากชายเป็นหญิง (Gender Affirmation Surgery - Male to Female) มีวัตถุประสงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงอวัยวะเพศจากชายให้ดูเหมือนอวัยวะเพศหญิงทั้งในแง่รูปลักษณ์ภายนอก ความรู้สึก และการใช้งาน โดยใช้ส่วนต่างๆ ขององคชาตเดิมเพื่อสร้างช่องคลอดใหม่ที่สามารถรับรู้ถึงความรู้สึกและใช้งานได้เปรียบเสมือนว่าเป็นเพศหญิง  

การผ่าตัดโดยทั่วไปประกอบด้วย 

  • การตัดอัณฑะ (Orchidectomy)  
  • การสร้างช่องคลอด (Vaginoplasty)  
  • การตกแต่งอวัยวะภายนอก (Labiaplasty)  

การผ่าตัดนี้มีการพัฒนาเทคนิคใหม่ๆ ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น  

  • การสร้างจุดรับความรู้สึก (Sensate Clitoroplasty)  
  • การสร้างแคมใน (Labia Minora reconstruction) โดยใช้ผิวหนังจากถุงอัณฑะมาสร้างเป็นแคม  
  • การสร้างช่องคลอดด้วยลำไส้ (Intestinal Vaginoplasty)  
  • การสร้างช่องคลอดด้วยเยื่อบุช่องท้อง (Endoscopic Peritoneal Flap Vaginoplasty) ทำให้การผ่าตัดแปลงเพศจากชายเป็นหญิงในปัจจุบัน มักจะได้ผลลัพธ์ที่ครบถ้วนทุกมิติและน่าพึงพอใจ 

นอกจากการผ่าตัดบริเวณอวัยวะเพศแล้ว การผ่าตัดแปลงเพศยังรวมไปถึงการผ่าตัดชนิดอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น  

  • การปรับโครงสร้างใบหน้า (Facial Feminization Surgery)  
  • การเหลาลูกกระเดือก (Tracheal Shave)  
  • การผ่าตัดเส้นเสียง (Voice Feminization Surgery)  
  • การเสริมหน้าอก (Breast Augmentation)  
  • การเสริมสะโพก (Buttock Augmentation)  
  • การปลูกผม (Hair Transplants)

เป็นต้น 

ผู้ที่เหมาะกับการผ่าตัดแปลงเพศ

  • สตรีข้ามเพศ (Transgender Woman: TGW) ที่ผ่านการประเมินตามข้อกำหนดของ The World Professional Association for Transgender Health (WPATH) recommendations version 7 (Coleman, et al., 2011) 
  • มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ  หากต้องการลดน้ำหนัก ควรลดน้ำหนักให้ได้ตามที่ต้องการก่อนทำการผ่าตัด 
  • ไม่มีโรคประจำตัวที่เป็นข้อห้ามในการผ่าตัด เช่น โรคที่มีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด (Hemophilia) โรคที่มีความผิดปกติของการหายของแผล (Ehlers-Danlos Syndrome) 
  • ผู้ที่มีความคาดหวังถึงผลลัพธ์ที่สมเหตุสมผล  
  • มีสุขภาพจิตปกติ 
  • มีอายุมากกว่า 20 ปี (หากอายุต่ำกว่า 20 ปี ต้องมีจดหมายยินยอมจากผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตามกฎหมาย) 

ความเสี่ยงและผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการผ่าตัดแปลงเพศ

การผ่าตัดทุกชนิดมีความเสี่ยง แต่ไม่ใช่ว่าความเสี่ยงเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับทุกคน แพทย์จะให้คำปรึกษาและประเมินความเสี่ยง ให้โอกาสในการซักถามข้อสงสัย จากนั้นจึงร่วมกันตัดสินใจในด้านการผ่าตัด 

ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดแปลงเพศ ที่ผู้รับการผ่าตัดมักกังวลคือเรื่องของความสวยงามและการรับความรู้สึก   ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ขึ้นกับหลายปัจจัย แพทย์ที่มีประสบการณ์ จะสามารถให้คำแนะนำ และเลือกชนิดของการผ่าตัดให้ได้ผลลัพธ์ที่ตรงตามความต้องการ และมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด   

ในเรื่องของรอยแผลเป็น หากไม่มีประวัติแผลเป็นประเภทคีลอยด์มาก่อน มักจะได้รับผลลัพธ์ที่เรียบเนียน ซ่อนในตำแหน่งที่เหมาะสม  

ความเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ ภาวะแทรกซ้อนในการหายของแผล (Wound complications) อาการชา (Numbness) หรือการขาดเลือดมาเลี้ยง (Skin Necrosis) ซึ่งมักพบในคนที่สูบบุหรี่จัด หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวที่มีปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือด เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น แต่หากควบคุมอาการได้ดีก็ไม่ใช่ข้อห้ามในการผ่าตัด  

การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดแปลงเพศ

6 เดือน ก่อนการผ่าตัด 

  • งดยารักษาสิวชนิดที่มีส่วนผสมของวิตามิน A (Isotretinoin) เพราะอาจมีผลต่อการหายของแผล 

3 เดือน ก่อนการผ่าตัด 

  • เตรียมความพร้อมของร่างกาย ด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ  
  • ตรวจสุขภาพประจำปี หากมีโรคประจำตัว ควรพบแพทย์เพื่อรักษาและควบคุมอาการให้อยู่ในภาวะปกติ 

4 สัปดาห์ ก่อนการผ่าตัด 

  • งดสูบบุหรี่ก่อนและหลังผ่าตัดอย่างน้อย 4 สัปดาห์ 
  • งดการเจาะ/สักร่างกาย หรืออาบแดด   หากมีการเจาะ ใส่ห่วง อยู่แล้วให้ถอดออกเพื่อเช็คและรักษาหากมีการอักเสบ 

10 วัน ก่อนการผ่าตัด 

  • งดยาที่มีผลกับการแข็งตัวของเลือด ได้แก่  
    • ยาละลายลิ่มเลือด เช่น Aspirin, Coumadin, Ticlid, Plavix or Aggrenox. (โปรดปรึกษาแพทย์ประจำตัวถึงความปลอดภัยในการหยุดยา) 
    • ยาแก้ปวดประเภท Nsaids เช่น Ibuprofen, Advil, Motrin, Nuprin, Aleve, Relafen, Naprosyn,  Diclofenac, Naproxen, Voltaren, Daypro, Feldene, Clinoril, Lodine, Indocin, Orudis เป็นต้น         
    • ยาระงับประสาท ยานอนหลับบางชนิด เช่น Zoloft, Lexapro, Prozac, Pristiq เป็นต้น 
    • งด วิตามิน อาหารเสริมทุกชนิด ที่อาจมีผลกับการแข็งตัวของเลือด เช่น Multivitamins, Fish oil, Omega3, Co-enzyme Q10, Evening Primrose Oil, Glucosamine, Arnica, Ginseng, Gingko, herbs เป็นต้น 

นอกจากคำแนะนำข้างต้นแล้ว ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าตัดแปลงเพศ ความเสี่ยง ผลลัพธ์ รวบรวมคำถามที่ไม่เข้าใจ ปรึกษาแพทย์ พูดคุยถึงความคาดหวังหลังการผ่าตัดศัลยกรรมกับแพทย์ เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันและเพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด

ขั้นตอนการศัลยกรรมผ่าตัดแปลงเพศ

  • แพทย์จะซักถามและปรึกษาเรื่องผลลัพธ์อีกครั้งก่อนเข้ารับการผ่าตัด  
  • ใช้เวลาในการผ่าตัดประมาณ 4-5 ชั่วโมง 
  • ดมยาสลบโดยวิสัญญีแพทย์ 
  • หลังผ่าตัด พักฟื้นในโรงพยาบาล 5 คืน 
  • นัดตรวจติดตามอาการ วันที่ 7 และวันที่ 14 หลังการผ่าตัด 

การดูแลตนเองเพื่อฟื้นตัวหลังการศัลยกรรมผ่าตัดแปลงเพศ

การฟื้นตัวหลังผ่าตัดขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ความแข็งแรงของสุขภาพเดิมก่อนผ่าตัด ชนิดของการผ่าตัด การดูแลหลังผ่าตัด 

  1. จะมีอาการเจ็บหรือปวดบริเวณแผลผ่าตัดปานกลาง  
  2. สามารถลุกเดินได้ในวันที่ 2 หลังผ่าตัด  
  3. สามารถอาบน้ำได้วันที่ 5 หลังผ่าตัด  ควรดูแลแผล และทำการขยายโพรงช่องคลอดต่อเนื่องตามที่แพทย์แนะนำ 
  4. อาการบวมช้ำอาจอยู่ได้นาน 3-6 เดือน  
  5. ความรู้สึกของผิวหนังบริเวณที่ผ่าตัดอาจลดลง และจะดีขึ้นในเวลา 3-6 เดือน  
  6. แผลผ่าตัดมักจะแดงและนูนเล็กน้อยในช่วง 1-3 เดือนแรก และจางลงในเวลา 6-12 เดือน จึงควรหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดโดยตรงเป็นเวลา 3-6 เดือน     
  7. สามารถกลับไปทำงานได้ใน 4-8 สัปดาห์  
  8. ควรงดออกกำลังกาย 4-6 สัปดาห์ 

การศัลยกรรมผ่าตัดแปลงเพศเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายและเป็นที่ยอมรับกันในสังคม ซึ่งการผ่าตัดดังกล่าวมีความซับซ้อน ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ที่มีความชำนาญทางด้านนี้โดยตรงและทำการผ่าตัดตามมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับ เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น และได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook