"เกลือ" ติดกินเค็ม กับ 5 อันตรายที่มากกว่า “โรคไต”
ถ้าคิดว่ากินเค็มแล้วจะเป็นแค่โรคไตล่ะก็ คิดผิดอย่างแน่นอน เพราะหากเป็นคนติดรสเค็ม กินเค็มกินเหลือมากเกินไป อาจจะเสี่ยงโรคอันตรายอีกหลายอย่างที่เผลอๆ อาจน่ากลัวกว่าโรคไตเสียอีก
อันตรายจากการติดเค็ม
- เกิดการคั่งของเกลือ และน้ำในอวัยวะต่างๆ
หากสังเกตกันดีๆ เมื่อไรที่เรากินเค็มมากๆ เราจะเริ่มรู้สึกกระหายน้ำ และทำให้เราดื่มน้ำมากขึ้น และการที่น้ำออกจากเซลล์เข้ามาในพลาสมาจึงทำให้ น้ำในหลอดเลือด (intravascular fluid, IVF) เพิ่มขึ้น และถ้าเพิ่มขึ้นมากจะทำให้เกิดการคั่งของเกลือและน้ำในอวัยวะต่างๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อหัวใจ ทำให้มีน้ำคั่งในปอดและเกิดการบวมน้ำได้
- หัวใจวาย
หากร่างกายไม่สามารถกำจัดเกลือและน้ำส่วนเกินในร่างกายได้ เกิดภาวะคั่งของเกลือและน้ำในอวัยวะต่างๆเช่น แขนขา หัวใจ และปอด ผลคือทำให้แขนขาบวม เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก นอนราบไม่ได้ ในผู้ป่วยโรคหัวใจ น้ำที่คั่งในร่างกายจะทำให้เกิดภาวะหัวใจวายมากขึ้น
- ความดันโลหิตสูง
ปัจจัยที่เชื่อว่าเป็นสาเหตุของความดันโลหิตสูงนั้น มีหลายปัจจัย ได้แก่ กรรมพันธุ์ ความอ้วน ระดับไขมันในเส้นเลือด ความเครียดทางจิตใจ รวมทั้งพฤติกรรมและวิถีชีวิตที่เคยชินเช่น การรับประทานอาหารรสเค็ม โดยในภาวะปกติร่างกายมีกลไกการปรับความดันโลหิตให้มีค่าอยู่ในระดับปกติและคงที่อยู่เสมอ แต่หากร่างกายอยู่ในภาวะไม่ปกติเมื่อไร กระบวนการปรับความดันโลหิตอาจทำงานได้ไม่เต็มที่ และทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงได้
- ส่งผลต่อไต
จากการที่มีการคั่งของน้ำและระดับความดันโลหิตสูง ทำให้ไตทำงานหนักขึ้น เพื่อเพิ่มการกรองโซเดียมและน้ำส่วนเกินของร่างกาย ผลที่ตามมาคือเกิดความดันในหน่วยไตสูงขึ้น และการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะมากขึ้น นอกจากนี้ยังกระตุ้นให้ร่างกายสร้างสารบางอย่าง ซึ่งทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น
- ส่งผลต่ออวัยวะอื่นๆ ทั่วร่างกาย
การได้โซเดียมมากเกิน เป็นสาเหตุทำให้ระดับความดันโลหิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง คนอ้วน และผู้ป่วยโรคเบาหวาน ภาวะความดันโลหิตสูงทำให้เกิดผลเสียต่อหลอดเลือดในอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ และสมอง เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน โรคอัมพฤกษ์ อัมพาตตามมา พบว่าในผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่แล้วหากรับประทานโซเดียมในปริมาณที่เหมาะสม ควบคู่กับยาลดความดันโลหิต สามารถลดความดันโลหิตได้ดีกว่าผู้ที่รับประทานยาลดความดันโลหิต แต่ได้รับโซเดียมเกินกำหนด
วิธีลดอาการติดเค็ม
- ลดปริมาณในการปรุงรสชาติอาหารด้วยเครื่องปรุงที่มีปริมาณโซเดียมสูง เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว ซอสมะเขือเทศ น้ำซุป ซอสปรุงรส น้ำจิ้มต่างๆ เป็นต้น
- ใช้เครื่องเทศในการปรุงรสชาติของอาหารให้มากขึ้น เพื่อทดแทนการใช้เครื่องปรุงที่มีโซเดียมสูง
- เลือกบริโภคเครื่องปรุงที่มีปริมาณโซเดียมต่ำกว่าปกติ
- ลดการซดน้ำซุปต่างๆ น้ำจากผัดผัก น้ำแกงต่างๆ เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงหรือลดการบริโภคอาหารที่ปรุงด้วยรสเค็มจัด เช่น ไข่เค็ม ปลาเค็ม ปลาแดดเดียว ปลาส้มแหนม ไส้กรอก กุนเชียง หมูหยอง อาหารแช่แข็ง อาหารสำเร็จรูป เป็นต้น
- เช็กปริมาณโซเดียมบนฉลากโภชนาการก่อนทุกครั้ง โดยเราไม่ควรบริโภคเกลือไม่เกิน 5 กรัมต่อวัน (โซเดียม 2,400 มิลลิกรัม)