พบยารักษา “มะเร็งลำไส้ใหญ่” ได้ผล 100% หลังผู้ป่วยเข้าร่วมวิจัยเพียง 1 ปี
เว็บไซต์เดลี่เมล์ของอังกฤษ รายงานว่า ทีมนักวิจัยพบยารักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการต่อต้านโรคมะเร็ง หลังจากทำการปฏิบัติการวิจัยทางคลินิกที่ช่วยรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ทุกคนที่เข้าร่วมงานวิจัย
ตัวยานี้มีชื่อว่า Dostarlimab เป็นยาโมโนโคลนอลแอนติบอดีที่ได้รับการอนุมัติให้รักษามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกในสหราชอาณาจักร โดยตัวยานี้นี่เองที่ถูกนำมาทดลองรักษาผู้ป่วยในงานวิจัย และทำให้ทีมวิจัยที่ศูนย์มะเร็ง Memorial Sloan Kettering ในนิวยอร์กต้องประหลาดใจไปกับผลลัพธ์ที่ดีเกินคาด
ผู้ป่วยที่รับยาในการทดลองครั้งนี้ทั้งหมด 18 คน เข้ารับการตรวจมะเร็งอีกครั้งหลังผ่านไป 1 ปี และทุกคนไม่พบสัญญาณบ่งชี้ถึงโรคมะเร็งใดๆ อีกต่อไป
นอกจากผลลัพธ์หลังการทดลองที่น่าสนใจแล้ว นักวิจัยยังกล่าวถึงความสำเร็จของยาโมโนโคลนอลแอนติบอดีนี้ว่า มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยที่มีอายุน้อย เนื่องจากการรักษามะเร็งอาจเป็นอันตรายต่อภาวะเจริญพันธุ์
นายแพทย์ลูอิส ไดแอซ สมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษาโรคมะเร็งแห่งชาติของทำเนียบขาว สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า “ผมเชื่อว่านี่เป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์โรคมะเร็ง มันน่าตื่นเต้นจริงๆ ผมคิดว่านี้เป็นก้าวที่สำคัญของการรักษาผู้ป่วย (โรคมะเร็ง) แน่นอน”
อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยพบข้อจำกัดในการใช้ยา Dostarlimab เมื่อพบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักที่มีเนื้องอกกลายพันธุ์มากที่สุดเพียง 1 ใน 10 เท่านั้นที่สามารถใช้ยาตัวนี้ได้ โดยอาการนี้จริงๆ แล้วสามารถพบได้ในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักทุกคน นอกจากนี้ นักวิจัยกล่าวว่ายังเร็วเกินไปที่จะประกาศให้ยารักษาโรคมะเร็งได้ เนื่องจากนักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าการทดลองมีขนาดเล็กและจำกัดขอบเขต โดยมีผู้เข้าร่วมเพียง 18 คน
แต่ก็ถือว่าเป็นการค้นพบที่พอจะมอบความหวังให้กับผู้ป่วยที่กำลังเผชิญกับโรคมะเร็งอยู่ทั่วโลกหลายล้านคนได้เป็นอย่างดี โดยทีมนักวิจัยมีความสนใจขยายการทดลองสำหรับผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหาร ต่อมลูกหมาก และมะเร็งตับอ่อนต่อไป