เนื้อสัตว์ชนิดไหน "กินดิบ" ได้บ้าง พร้อมข้อควรระวัง
ไม่ใช่เนื้อสัตว์ทุกชนิดที่จะกินดิบได้อย่างเอร็ดอร่อย บางอย่างควรกินสุกเท่านั้น เพราะกินดิบเท่ากับอันตรายเสี่ยงโรคถามหาแค่จากเนื้อสัตว์ไม่กี่คำ
คนไทยหลายคนคุ้นเคยกับคำว่า “ซาชิมิ” เพราะหมายถึงเนื้อสัตว์ที่เรากินแบบดิบๆ สดๆ ไม่ผ่านการปรุงด้วยความร้อนใดๆ ต้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่น และอาหารที่นำมากินแบบซาชิมิส่วนใหญ่เป็นอาหารทะเล เช่น ปลาทะเล ปลาหมึก หอย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เนื้อสัตว์ทุกชนิดที่เราจะกินดิบได้ หากกินแบบดิบอาจเสี่ยงอันตรายก่อให้เกิดโรคต่างๆ ได้เพียงแค่เรากินเนื้อสัตว์ดิบเข้าไปเพียงไม่กี่คำ
เนื้อสัตว์ชนิดไหน "กินดิบ" ได้บ้าง
สัตว์ทะเล
ส่วนใหญ่สัตว์ทะเลมักจะสามารถรับประทานแบบกินดิบได้อย่างปลอดภัย (แต่ต้องมีกระบวนการในการจัดเก็บและฆ่าเชื้อโรค รวมถึงพยาธิต่างๆ ผ่านอุณหภูมิเย็นๆ ที่เหมาะสมด้วย)
สัตว์ทะเลที่นิยมกินดิบได้ ได้แก่
- ปลาแซลมอน (ชนิดกินดิบ)
- ปลาทูน่า
- ปลาคัตสึโอะ
- ปลาเทราต์
- ปลาบุริ หรือปลาอาจิ
- กุ้ง
- กั้ง
- ปลาหมึก
- ปูทะเล
- ไข่หอยเม่น
เป็นต้น
เนื้อสัตว์ใหญ่บางชนิด
เนื้อสัตว์ใหญ่บางชนิด เช่น วัว ที่มีการนำมารับประทานแบบดิบ 100% และเนื้อวัว เนื้อแกะแบบสเต็กที่ความสุกอยู่ที่ 50-75% ก็สามารถนำมากินดิบได้อย่างปลอดภัย
แต่เนื้อสัตว์เหล่านี้ต้องผ่านการคัดเลือกและดูแลเรื่องของความสะอาดเป็นอย่างดี ก่อนนำมาปรุงอาหารต่อไป
นกพิราบ
สามารถรับประทานดิบได้เฉพาะ นกพิราบฝรั่งเศส ที่มีกระบวนการเลี้ยงดูและดูแลเรื่องความสะอาด สำหรับเฉพาะการรับประทานดิบได้เท่านั้น
เนื้อสัตว์ที่ห้ามกินดิบเป็นอันขาด
- สัตว์น้ำจืดทุกชนิด เช่น ปลาสวาย ปลานิล ปลากะพง ปลาบึก ปลาไหล ปลาทู เป็นต้น
- หมู ไก่ นก สัตว์บกชนิดเล็กทั้งหมด (ยกเว้นนกพิราบฝรั่งเศส)
- นกกระจอกเทศ
- เป็ด ห่าน จระเข้
- เนื้อสัตว์อื่นๆ นอกเหนือไปจากเนื้อสัตว์ที่กินดิบได้ทั้งหมด
เนื้อสัตว์ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ควรกินแบบปรุงสุก 100% ไม่มีการปรุงแบบมีเดียมแรร์ หรือปรุงสุกเพียง 50-100%
อันตรายจากการกินเนื้อสัตว์ดิบ
การกินเนื้อสัตว์ดิบ เสี่ยงเป็นโรคอุจจาระร่วง ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ รวมทั้งโรคที่เป็นอันตรายถึงชีวิตเช่นไข้หูดับหรือโรคพยาธิได้ เช่น พยาธิตืดหมู ตืดวัว หากพบพยาธิในสมองและไขสันหลัง อาจทำให้มีอาการทางระบบประสาท ชัก อาจรุนแรงถึงตาย หรืออยู่ในตาอาจตาบอดได้
วิธีเลือกเนื้อสัตว์กินดิบที่ปลอดภัยต่อร่างกาย
- เลือกซื้อจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้
- มีกระบวนการในการเก็บรักษาไว้ในความเย็นที่เหมาะสม
- มีการฆ่าเชื้อโรคและพยาธิต่างๆ ด้วยการเก็บไว้ในอุณหภูมิเย็นเฉียบที่ -35 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 15 ชั่วโมง หรือ -20 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 7 วัน