ทำไมใช้ "ยาคุมฉุกเฉิน" แล้ว แต่ไม่ได้ผล
ยาคุมฉุกเฉิน เป็นวิธีคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินที่สามารถทำได้โดยฝ่ายหญิงกินยาตามเวลาที่กำหนดอย่างเคร่งครัด
ยาคุมฉุกเฉิน คืออะไร
ดร.ภญ. นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์ ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินหรือยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน เป็นยาที่รับประทานหลังจากมีเพศสัมพันธ์แล้ว เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์อันเนื่องจาก การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่คาดการณ์หรือไม่พึงประสงค์ การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่อาจป้องกัน การถูกล่วงละเมิดทางเพศ การคุมกำเนิดด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง การคุมกำเนิดล้มเหลว เช่น ถุงยางอนามัยชำรุด เป็นต้น
ข้อแตกต่างระหว่างการใช้ยาคุมกำเนิด VS ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน
ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน จะใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น ไม่ใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินเพื่อแทนยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทานสม่ำเสมอ เนื่องจากยาคุมกำเนิดฉุกเฉินมีปริมาณฮอร์โมนสูง จึงเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้มาก อีกทั้งมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ต่ำกว่ายาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทานสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินไม่อาจยุติการตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นแล้ว จึงไม่ใช่ยาทำแท้งอีกด้วย
ยาคุมฉุกเฉิน ทำงานอย่างไร
เมื่อชายหญิงมีเพศสัมพันธ์แล้วมีอสุจิจากฝ่ายชายเข้าไปในรังไข่ อสุจิจะมีชีวิตอยู่ได้ราว 5 วัน หากระหว่างนั้นเกิดการปฏิสนธิและไข่เริ่มฝังตัวได้ ก็จะเกิดการตั้งครรภ์
หน้าที่ของยาคุมกำเนิด คือ การเข้าไปออกฤทธิ์ไม่ให้เกิดการปฏิสนธิ และไม่ให้เกิดการฝังตัว แต่จะไม่เข้าไปรบกวนไข่ที่เกิดการปฏิสนธิ หรือไข่ที่ฝังตัวแล้ว ดังนั้นยาคุมกำเนิดฉุกเฉินจึงไม่ใช่ยาทำแท้ง
ช่วงหลังจากไข่ตกจนถึงช่วงที่จะเกิดการฝังตัวนั้นมีเวลาสั้นเพียงแค่ 6 วัน (แม้ว่าในความเป็นจริงอาจนานกว่านี้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่กว่า 80% ของการตั้งครรภ์ การฝังตัวของไข่ที่ผสมแล้วเกิดช่วง 8-10 หลังการตกไข่)
ทำไมกินยาคุมฉุกเฉินแล้วยังตั้งครรภ์
ในบางรายที่อยากคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน แต่กินแล้วยังตั้งครรภ์ อาจมีความเป็นไปได้ว่าจะกินยาคุมฉุกเฉินไม่ถูกต้อง โดยสาเหตุที่อาจเป็นไปได้ มีดังนี้
- กินยาคุมฉุกเฉินไม่ทันเวลา
เวลาที่เหมาะสมในการกินยาคุมฉุกเฉิน คือการกินยาหลังมีเพศสัมพันธ์ไม่เกิน 72 ชั่วโมง และอาจไม่ได้ผลหากรับประทานล่าช้าเกิน 96 ชั่วโมงหลังการมีเพศสัมพันธ์
- กินยาเม็ดที่ 2 ล่าช้า
ยาคุมฉุกเฉินต้องกิน 2 เม็ด (ชนิดกิน 2 เม็ด) ตามเวลาที่กำหนดในคู่มือการกินของยาแต่ละชนิด ส่วนใหญ่จะไม่เกิน 12 ชั่วโมงนับจากเวลาที่กินยาเม็ดแรก นอกจากการกินยาเม็ดแรกช้ากว่ากำหนดจะเสี่ยงทำให้ยาคุมกำเนิดออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่ และอาจไม่ได้ผลเท่าที่ควรจะเป็นได้แล้ว การกินยาเม็ดที่ 2 ช้ากว่ากำหนดก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งได้เช่นกัน
- กินยาคุมฉุกเฉินซ้ำ
หากในบางรายที่ระหว่างที่กินยาคุมฉุกเฉินเม็ดแรกอยู่ แล้วมีเพศสัมพันธ์อีกครั้งภายในเวลา 24 ชั่วโมงหลังกินยาเม็ดแรก อาจมีความจำเป็นที่จะต้องกินยาคุมฉุกเฉินอีกครั้งด้วยเช่นกัน แต่การรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉินซ้ำอาจให้ประสิทธิผลลดลง และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ของยา เช่น มีเลือดคล้ายประจำเดือนออกผิดปกติหรือออกกะปริบกะปรอย ตกขาวเป็นสีน้ำตาล ปวดศีรษะ ตึงเต้านม หรือ ประจำเดือนมากขึ้น ได้อีกด้วย
- น้ำหนักเกินมาตรฐาน
ในรายที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ได้แก่ คนที่มีดัชนีมวลกาย (BMI) เกิน 30 มีข้อมูลพบว่าผู้หญิงที่อ้วน หรือมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน เมื่อใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินมีอัตราการตั้งครรภ์สูงกว่าผู้ที่ไม่อ้วน
- ผลข้างเคียงจากยาตัวอื่นที่กินอยู่
ในบางรายที่มีการกินยาตัวอื่นๆ ที่มีฤทธิ์เพิ่มการทำงานของเอนไซม์ที่ใช้ในการเปลี่ยนสภาพยา อาจทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลงได้
ข้อควรระวังในการกินยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน
- ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ไม่ใช่ยาทำแท้ง ไม่สามารถยุติการตั้งครรภ์ หรือรบกวนไข่ที่มีการฝังตัวในมดลูก หรือไข่ที่ปฏิสนธิ
- ไม่ใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินแทนการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทานสม่ำเสมอ
- ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินออกฤทธิ์รบกวนหรือชะลอการตกไข่ กลไกการออกฤทธิ์อย่างอื่นยังไม่ชัดเจนพอที่จะสนับสนุนประสิทธิภาพของยาหากรับประทานหลังการตกไข่
- หากกินยาคุมฉุกเฉินแล้วมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นมากเกินไป ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอีกครั้ง