ไขคำตอบ ไทยจะปลอดไข้เลือดออกภายใน 5 ปี ได้อย่างไร เมื่อการระบาดอาจรุนแรงขึ้นทุกปี!
จำนวนกว่า 130,000 คือตัวเลขผู้ป่วยเป็นไข้เลือดออกในประเทศไทยในช่วงปีที่มีการระบาดหนัก แม้ว่าการระบาดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจะดูเหมือนเบาบางลง แต่กรมควบคุมโรค ก็เตือนให้ประชาชนเฝ้าระวัง หลังพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากไข้เลือดออกแล้ว 3 ราย ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา
สถานการณ์การระบาดของไข้เลือดออกเป็นปัญหาระดับประเทศ ไม่แต่เฉพาะประเทศไทย โดยเฉพาะประเทศภูมิภาคเขตร้อนชื้นก็จะพบการระบาดทุกปี แม้จะไม่มีวิธีการป้องกันที่ทำให้โรคนี้หายไปได้ แนวทางที่ดีที่สุดคือการรณรงค์ให้ทุกคนตระหนักถึงความรุนแรงของโรคไข้เลือดออก และเรียนรู้ที่จะหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการเฝ้าระวังอาการหากติดเชื้อ เพื่อลดความเสี่ยงที่โรคจะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต สิ่งเหล่านี้นำมาสู่ข้อตกลงร่วมกันเพื่อสร้างความตระหนัก ส่งเสริมองค์ความรู้ พัฒนาศักยภาพและการมีส่วนร่วมในการป้องกันไข้เลือดออกในระดับภูมิภาค โดยประกาศให้ทุกวันที่ 15 มิถุนายนของทุกปีเป็น "วันไข้เลือดออกอาเซียน" หรือ ASEAN Dengue Day
ศ. เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี
ประธานบันทึกข้อตกลงความร่วมมือควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก Dengue-Zero
สถานการณ์ความรุนแรงโรคไข้เลือดออกในประเทศไทย
ศ. เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี ประธานบันทึกข้อตกลงความร่วมมือควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก Dengue-Zero กล่าวว่า “ไข้เลือดออกถือเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก ปัจจุบันพบไข้เลือดออก 4 สายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์มีความรุนแรงที่ต่างกัน หากเกิดการติดเชื้อจากสายพันธุ์นั้นแล้วร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันจากสายพันธุ์นั้นทันที แต่มีโอกาสติดเชื้อจากสายพันธุ์อื่นๆ ได้ในอนาคต และหากมีการติดเชื้อครั้งที่ 2 มักจะรุนแรงกว่าครั้งแรก”
“ยิ่งไปกว่านั้น การระบาดของไข้เลือดออกอาจจะมีแนวโน้มสูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน เพราะการที่อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น 1 องศาเซลเซียส ก็ทำให้ยุงสามารถวางไข่ได้ จึงพบรายงานการเกิดไข้เลือดออกในหลายประเทศที่ไม่เคยพบโรคนี้มาก่อน”
น.พ.ชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.)
กรุงเทพฯ พื้นที่เสี่ยงที่ทุกหน่วยงานต้องเร่งรับมือ
ด้าน น.พ.ชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงสถานการณ์ความรุนแรงไข้เลือดออกใน กรุงเทพมหานคร พบว่า จำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เปรียบเทียบช่วงเมษายนที่ผ่านมาระหว่างปี 2564 กับปี 2565 เพิ่มขึ้น “มีหลายปัจจัยที่ทำให้ กทม. เป็นพื้นที่เสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายทางภูมิอัตลักษณ์ รวมถึงการโยกย้ายถิ่นฐาน และจำนวนประกรที่เพิ่มสูงขึ้น ย่อมเชื่อมโยงกับตัวเลขผู้ป่วยที่มากขึ้นด้วย”
“ปัญหาไข้เลือดออกไม่ได้เป็นปัญหาด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน สิ่งสำคัญคือ การสร้างภาคีเครือข่ายเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและการป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างมีประสิทธิภาพ ตอนนี้เรามีอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส) กว่า 10,000 คน ภายใต้การกำกับดูแลกระจายไปทั้ง 50 เขตพื้นที่ของ กทม. โดยที่ภาคีเครือข่ายจากความร่วมมือ Dengue-Zero MOU มาช่วยกันขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็นการอบรมให้ความรู้ นำนวัตกรรมต่างๆ และเครื่องมือในการปฎิบัติงานในพื้นที่เพื่อช่วยเหลืองานการแพทย์และสาธารณสุขสะดวกขึ้น ร่วมถึงการสร้างกระแสสังคมให้มีการรับรู้ผ่านสื่อต่างๆ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายความร่วมมือที่จะมุ่งสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนถ้าประชาชนมีความรู้ เขาก็จะดูแลตัวเอง ถือเป็นหน้าที่ของทุกคนในการควบคุมโรคไข้เลือดออก”
มร. ปีเตอร์ สตรีบัล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด
ทาเคดา ขอร่วมเป็นหนึ่งสร้างความร่วมมือผลักดันเป้าหมาย ‘ไทยปลอดไข้เลือดออกภายใน 5 ปี’
ขณะเดียวกัน บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งใน 11 ภาคีเครือข่ายที่ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก Dengue-Zero ก็ตอกย้ำเจตนารมย์ชัดที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมปลอดไข้เลือดออก โดย มร. ปีเตอร์ สตรีบัล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ทาเคดา ในฐานะบริษัทชีวเภสัชภัณฑ์ระดับโลกที่มีความมุ่งมั่นนำเสนอนวัตกรรมเพื่อสุขภาพที่ดีกว่า ในประเทศไทยไข้เลือดออกมีการระบาดต่อเนื่องและจำนวนผู้ป่วยก็เพิ่มขึ้น การสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องโรค การเข้าใจถึงวิธีการควบคุมและป้องกันโรค จะนำไปสู่การลดอัตราความเจ็บป่วยและการสูญเสียจากโรคนี้ได้ โดยทาเคดา ได้ให้การสนับสนุนการทำงานในหลากหลายมิติเพื่อให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องได้เติมเต็มศักยภาพอย่างเต็มที่ ส่งเสริมให้ประชาชนได้รับรู้และเข้าใจถึงภัยของไข้เลือดออก อันจะนำไปสู่การป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด”
“สำหรับวัน ASEAN Dengue Day ที่จะมาถึงนี้ ทาเคดาและภาคีเครือข่าย ภายใต้ความร่วมมือ Dengue-Zero จะร่วมกันสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ภาคประชาชน พร้อมนำเสนอนวัตกรรมและการสื่อสารที่สร้างความแปลกใหม่ในการรับรู้เรื่องโรค โดยเน้นให้ภาคประชาชนในทุกกลุ่มเข้าถึงข้อมูล ได้เข้าใจในตัวโรคไข้เลือดออกมากยิ่งขึ้น และคาดหวังว่าจะนำไปสู่การตระหนักและการป้องกันในชุมชนต่อไป” มร. ปีเตอร์ สตรีบัล กล่าวทิ้งท้าย
15 มิถุนายน "วันไข้เลือดออกอาเซียน" (ASEAN Dengue Day) เดินหน้าภารกิจภายใต้เป้าหมายหลัก 3 ประการ
เนื่องในวันไข้เลือดออกอาเซียน ปีนี้ ได้มีการกำหนดประเด็นหลักในการรณรงค์ว่า “อาเซียนร่วมใจปลอดภัยไข้เลือดออก” (ASEAN Unity for Dengue-Free Community) ให้ประชาชนป้องกันตนเองด้วยการดูแลสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย นอกจากประเด็นดังกล่าวการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก Dengue-Zero ของภาคีเครือข่ายองค์กรภาครัฐและเอกชนจำนวน 11 องค์กร ยังมีเป้าหมายหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1) ลดอัตราการเจ็บป่วยจากไข้เลือดออกลงให้ได้ร้อยละ 25 หรือให้ไม่เกิน 60,000 รายต่อปี 2) ลดอัตราการเสียชีวิตให้ต่ำกว่า 1 ต่อ 10,000 ราย และ 3) ควบคุมแหล่งลูกน้ำยุงลายในชุมชนให้ต่ำกว่า 5 หลังคาเรือน จากการสำรวจ 100 หลังคาเรือน
“เราอยากเห็นประเทศไทยปลอดไข้เลือดออก การหารือระหว่างภาคีเครือข่ายและสร้างความร่วมมือกันโดยเริ่มจาก มุ่งเพิ่มความตระหนักรู้ให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้นโดยเน้นการมีส่วนร่วมในการป้องกันเชิงรุกในชุมชน มุ่งการเพิ่มช่องทางการรับรู้ของชุมชนให้เข้าถึงง่าย และมุ่งพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์รวมทั้งอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานครเพื่อการกำจัดไข้เลือดออกให้ได้อย่างเด็ดขาดและยั่งยืน” น.พ.ชวินทร์ กล่าวทิ้งท้าย
[Advertorial]