ผู้หญิงตั้งครรภ์ ดื่มกาแฟ-เครื่องดื่มคาเฟอีน ได้หรือไม่
เชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่ไม่แน่ใจว่า คาเฟอีน ส่งผลต่อลูกน้อยในครรภ์ของหญิงตั้งครรภ์หรือไม่ จากรายงานการศึกษาต่างๆ แม้ว่าจะมีข้อแนะนำถึงหญิงตั้งครรภ์ว่าไม่ควรดื่มคาเฟอีนเกินเท่าไรต่อวัน แต่พบงานวิจัยที่พิสูจน์ว่าการดื่มคาเฟอีนน้อยๆ แต่เป็นประจำตลอดการตั้งครรภ์มีผลเสียต่อลูกน้อยในครรภ์ ดังนั้น ผู้หญิงมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคคาเฟอีนโดยสิ้นเชิง
คาเฟอีน ไปถึงลูกในครรภ์ได้อย่างไร
เป็นเรื่องจริงที่ว่า คาเฟอีนสามารถผ่านเข้าสู่สมองและผ่านรกไปสู่ทารกในครรภ์ได้ คาเฟอีนเป็นสารที่ชอบน้ำและละลายน้ำได้ดี แต่ก็มีความชอบต่อไขมันเพียงพอที่จะผ่านเยื่อหุ้มเซลล์และกระจายสู่เนื้อเยื่อต่างๆ ได้ดี รวมถึงการผ่านรกเข้าสู่ทารกในครรภ์ ระดับคาเฟอีนในเลือดของทารกในครรภ์กับของแม่มีพอๆ กัน หากผู้หญิงมีครรภ์บริโภคคาเฟอีนในปริมาณสูงทารกในครรภ์จะได้รับคาเฟอีนในปริมาณสูงด้วย รกและทารกในครรภ์ไม่มีเอนไซม์ที่จะเปลี่ยนคาเฟอีนไปเป็นสารอื่น การกำจัดคาเฟอีนของทารกในครรภ์ต้องอาศัยการกำจัดผ่านแม่ ในผู้หญิงมีครรภ์อัตราการเปลี่ยนคาเฟอีนไปเป็นสารอื่นเกิดช้าลงดังกล่าวแล้วข้างต้น จึงทำให้ทารกในครรภ์มีโอกาสสัมผัสคาเฟอีนในปริมาณสูงและเป็นเวลานาน
มีการศึกษาพบว่าปริมาณคาเฟอีนในเส้นผมทารกแรกคลอดมีความสัมพันธ์กับปริมาณคาเฟอีนที่ผู้หญิงมีครรภ์บริโภคช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์
ทำไม หญิงตั้งครรภ์ ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
เป็นเรื่องยากที่จะกำหนดถึงปริมาณคาเฟอีนที่ปลอดภัยสำหรับการบริโภคในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ เนื่องจากพบความหลากหลายในประสิทธิภาพของเอนไซม์ที่ใช้ในการกำจัดคาเฟอีนออกจากร่างกายและความแปรปรวนในการตอบสนองต่อฤทธิ์ของคาเฟอีนในแต่ละคน
อย่างไรก็ตาม บางองค์กร เช่น American College of Obstetricians and Gynecologists, European Food Safety Authority, UK National Health Service มีข้อแนะนำเกี่ยวกับปริมาณคาเฟอีนที่ผู้หญิงมีครรภ์บริโภคว่าไม่ควรเกินวันละ 200 มิลลิกรัม หรือเทียบเท่าการดื่มกาแฟ 1-2 แก้ว (แก้วละ 240-250 มิลลิลิตร) หากผู้หญิงมีครรภ์บริโภคคาเฟอีนเกินกว่าวันละ 200 มิลลิกรัมจัดว่าเป็นการบริโภคในปริมาณสูง และหากบริโภคต่ำกว่าวันละ 200 มิลลิกรัมจัดว่าเป็นการบริโภคในปริมาณปานกลาง
อย่างไรก็ตามมีการศึกษาที่พบผลเสียต่อทารกเมื่อผู้หญิงมีครรภ์บริโภคคาเฟอีนในปริมาณเพียงวันละ 50 มิลลิกรัมตลอดช่วงเวลาที่ตั้งครรภ์ โดยพบว่าเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้ทารกแรกคลอดมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์และอาจมีผลเสียอื่นอีก
ดังนั้น ด้วยเหตุนี้ผู้หญิงมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคคาเฟอีนโดยสิ้นเชิง
ผลเสียของคาเฟอีนที่อาจกระทบต่อลูกในครรภ์
- คุณแม่เสี่ยงแท้ง
- คุณแม่เสี่ยงภาวะตายคลอด (ให้กำเนิดทารกที่เสียชีวิตในครรภ์)
- ทารกแรกคลอดตัวเล็ก
- เมื่อทารกเจริญเข้าสู่วัยเด็ก อาจเสี่ยงต่อความผิดปกติต่างๆ เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดลิมฟอยด์ การมีน้ำหนักตัวมากเกิน การเป็นโรคอ้วน หรือ การเรียนรู้ด้อยลง เป็นต้น
- ทารกแรกคลอดอาจเกิดอาการขาดคาเฟอีน เช่น การนอนหลับผิดปกติ อาเจียน หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ การหายใจไม่สม่ำเสมอ ตัวสั่น เป็นต้น