รู้จัก “รัมเซย์ ฮันต์ ซินโดรม” (Ramsay Hunt Syndrome) โรคแทรกซ้อนจาก “งูสวัด”

รู้จัก “รัมเซย์ ฮันต์ ซินโดรม” (Ramsay Hunt Syndrome) โรคแทรกซ้อนจาก “งูสวัด”

รู้จัก “รัมเซย์ ฮันต์ ซินโดรม” (Ramsay Hunt Syndrome) โรคแทรกซ้อนจาก “งูสวัด”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรคงูสวัด เป็นโรคที่หลายคนคุ้นเคย มีอาการคล้ายอีสุกอีใส และยังพบผู้ป่วยโรคนี้อยู่เรื่อยๆ ในทุกเพศทุกวัย แม้ว่างูสวัดจะเป็นโรคที่หายได้ ไม่มีอันตรายมาก แต่ในบางรายอาจมีโรคแทรกซ้อนที่น่ากังวลอยู่ หนึ่งในนั้นคือโรครัมเซย์ ฮันต์ ซินโดรม

โรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม คืออะไร

โรครัมเซย์ ฮันต์ ซินโดรม (Ramsay Hunt Syndrome) เป็นโรคซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนจากงูสวัดโดยตรง เกิดจากการที่เชื้อไวรัสเข้าไปจู่โจมเส้นประสาทสมอง ทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น ปวดหู การได้ยินลดลง เวียนหัว บ้านหมุน ได้ยินเสียงหึ่งๆ เกิดตุ่มน้ำภายในหู เสียการรับรู้รสชาติอาหาร ใบหน้าซีกใดซีกหนึ่งเบี้ยว

โรครัมเซย์ ฮันต์ ซินโดรม รักษาด้วยยาต้านไวรัส และต้องรีบรักษาภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากเกิดอาการเพราะการรักษาตั้งแต่แรกๆ จะทำให้ได้รับผลการรักษาที่ดีกว่า หากช้ากว่านี้อาจทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า รัมเซย์ ฮันต์ ซินโดรม เป็นโรคที่เกิดจาก Varizella Zoster Virus ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกันกับที่ทำให้เกิดอาการของโรคอีสุกอีใส ซึ่งคนที่เคยเป็นโรคนี้แล้วตัวไวรัสอาจจะยังอยู่ในร่างกาย โดยไม่ก่อให้เกิดโรคได้หลายปี แต่เมื่อก่อโรคก็จะเป็นสาเหตุให้เกิดการอักเสบ โดยเฉพาะในตำแหน่งที่ทำให้เกิดโรค

อาการของโรครัมเซย์ ฮันต์ ซินโดรม

อาการของโรครัมเซย์ ฮันต์ ซินโดรม จะเริ่มต้นจากอาการอักเสบทั่วไป ซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะที่ ผู้ป่วยจะมีอาการปวด บวม แดง ร้อน ในตำแหน่งบริเวณใบหูของข้างที่เกิดอาการ หรืออาจจะมีไข้ต่ำๆ รู้สึกไม่สบายตัวร่วมด้วยได้ หลังจากนั้นจะพบตุ่มน้ำใส ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของไวรัสชนิดนี้ เกิดขึ้นที่บริเวณใบหู โดยตุ่มน้ำจะทำให้รู้สึกแสบๆ คันๆ หรือแสบร้อนมากกว่าตุ่มคันทั่วๆ ไป 

การอักเสบติดเชื้อดังกล่าวจะทำให้เส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ซึ่งทำหน้าที่ในการเลี้ยงกล้ามเนื้อใบหน้า หูชั้นใน และการรับรสบางส่วนเกิดการอักเสบ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการอัมพาตของใบหน้าครึ่งซีก หลับตาไม่สนิท ทำให้มีอาการเคืองตา หรือล้างหน้าแล้วแสบตาเนื่องจากน้ำสบู่เข้าตา เป็นต้น

นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า การขยับกล้ามเนื้อใบหน้าเป็นอัมพาตทำให้การพูด การออกเสียง การดื่มน้ำและรับประทานอาหารมีปัญหา อาการจะคล้ายกับอาการเส้นประสาทใบหน้าอักเสบชนิด Bell’s Palsy ซึ่งเป็นการอักเสบของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 เช่นกัน แต่มักจะไม่พบสาเหตุชัดเจน และไม่มีอาการของผื่นหรือตุ่มน้ำใส เนื่องจากอาการอัมพาตของใบหน้าที่เกิดขึ้นเพียงครึ่งซีก ส่วนใหญ่จะค่อยๆ เป็นมากขึ้นในวันนั้นหรือข้ามวัน แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจจะไม่ได้สังเกตอาการตอนเริ่มต้น ทำให้เข้าใจว่าอาการเกิดขึ้นทันทีทันใด ซึ่งจำเป็นต้องแยกจากอาการของกลุ่มโรคหลอดเลือดสมองด้วย เนื่องจากเส้นประสาทดังกล่าวมีส่วนในการรับรส ทำให้การรับรสผิดปกติ และส่วนที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อในหูชั้นใน เช่น อาการหูอื้อ มีเสียงดังในหู หรือการได้ยินผิดปกติร่วมด้วยได้ แพทย์วินิจฉัยจากการซักประวัติ ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ร่วมกับการรักษาตามอาการ และการทำกายภาพบำบัด

วิธีรักษาโรครัมเซย์ ฮันต์ ซินโดรม

ในกรณีที่มีการอัมพาตของกล้ามเนื้อใบหน้า อาจจะใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูจนกลับมาใกล้เคียงกับปกติประมาณ 3 เดือน ขึ้นกับระดับความรุนแรงและความเสียหายที่เกิดขึ้น และขึ้นกับความสามารถของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อในการฟื้นตัวด้วย

สำหรับวิธีรักษารักษาโรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีกโดยทั่วไป คือ รักษาตามสาเหตุที่ทำให้โรค เช่น ให้ยาฆ่าเชื้อไวรัสกรณีที่มีการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเริม หรืองูสวัดร่วมด้วย การให้ยาสเตียรอยด์เพื่อลดอาการอักเสบในรายที่ไม่มีการติดเชื้อ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดใบหน้า เช่น การบริหารกล้ามเนื้อใบหน้า, การกระตุ้นเส้นประสาทด้วยกระแสไฟฟ้า หรือนวดใบหน้า ช่วยลดภาวะกล้ามเนื้อตึงเกร็ง และการผ่าตัดในผู้ป่วยบางราย ในผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ควรปิดตาข้างที่มีอาการ หรือ ใส่แว่นกันแดด ร่วมกับใช้น้ำตาเทียม และปิดตาเวลานอนเพื่อลดอาการเคืองตา ตาแดง หรือมีแผลที่แก้วตา

วิธีป้องกันโรครัมเซย์ ฮันต์ ซินโดรม

โรคที่เกิดจากการอักเสบของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 และทำให้เกิดอาการอัมพาตครึ่งซีกของใบหน้า สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย แม้ไม่ได้มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงใด จึงไม่มีแนวทางหรือวิธีในการป้องกันการเกิดโรคที่ชัดเจน การป้องกันจึงมุ่งเน้นไปที่การดูแลสุขภาพโดยรวม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และเมื่อพบว่ามีความผิดปกติ การเข้ารับการตรวจรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้ผลของการรักษาและการฟื้นฟูนั้นมีประสิทธิภาพที่ดีกว่า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook