5 โรควิตกกังวลที่พบบ่อยในวัยทำงาน
วัยทำงานกับความเครียดสะสมที่เกิดจากการทำงาน การพักผ่อนน้อย ความกดดันทางการเงินและสังคม การเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยตัวเอง และอื่นๆ เป็นบ่อเกิดของโรควิตกกังวลที่คุณอาจเป็นโดยไม่รู้ตัว
ข้อมูลจาก โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน ระบุว่า โรควิตกกังวล เป็นโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่งที่คนไทยหลายคนมีความเสี่ยงและเป็นกันเยอะ จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิตพบคนไทยมากกว่าหนึ่งแสนคนป่วยด้วยโรควิตกกังวล
โรควิตกกังวล ไม่ใช่แค่เพียงความวิตกกังวลในระดับที่หลายคนเรียกว่า “คิดมาก” แต่เป็นการทำงานที่ผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมองที่ไม่สมดุลกัน หรืออาจจะมาจากทางกรรมพันธุ์ และสาเหตุต่างๆ แต่แน่นอนว่าเป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษาอย่างใกล้ชิดจากแพทย์
สาเหตุของโรควิตกกังวล
สาเหตุของโรควิตกกังวล มีหลายอย่าง เช่น
- กรรมพันธุ์
- สภาพแวดล้อม
- การเลี้ยงดู หรือการเลียนแบบพฤติกรรมจากพ่อแม่ หรือคนใกล้ชิด
- การประสบกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ก่อให้เกิดโรควิตกกังวล
เป็นต้น
5 โรควิตกกังวลที่พบบ่อยในวัยทำงาน
- โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder)
เป็นอาการของคนที่มีความวิตกกังวลในเรื่องทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวัน เช่น เรื่องสอบ หางาน เงิน ครอบครัว คนรัก สุขภาพ ฯลฯ ซึ่งสามารถจัดการลดความวิตกกังวลได้ด้วยตัวเองโดยการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้โดยตรง แต่หากมีความวิตกกังวลสูงมากจนไม่สามารถคลายความวิตกกังวลได้ด้วยตัวเองนานมากกว่า 6 เดือน อาจส่งผลต่อร่างกายแบบที่เห็นได้ชัดมากขึ้น เช่น เริ่มกระวนกระวาย ไม่มีสมาธิ หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน นอนไม่หลับ เป็นต้น หากเกิดอาการเช่นนี้ ควรรีบพบแพทย์
- โรคแพนิค (Panic Disorder)
โรคแพนิค หรือโรคตื่นตระหนก เป็นความวิตกกังวลที่มากกว่าเกินกว่าคนอื่นๆ จนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ กังวลแม้กระทั่งเรื่องไม่เป็นเรื่อง เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น กลัวเสียชีวิตแม้ว่าโรคที่เป็นจะรักษาหายได้ไม่ยาก หรือมีอาการแค่เล็กน้อยเท่านั้น หรือกลัวคนอื่นว่าหรือนินทาตัวเองลับหลัง วิตกกังวลจนแสดงอาการออกมาให้เห็น เช่น เหงื่อแตก หน้ามืด ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว เป็นลม เป็นต้น หากมีอาการมากๆ ควรรีบพบแพทย์
- โรคกลัวสังคม (Social Phobia)
เป็นความกังวลต่อสายตาของคนอื่นๆ ในสังคมที่จะมองมาที่เราและคิดอย่างไรกับเรา ประหม่า ไม่มีความมั่นใจ กลัวสายตาคนรอบข้างจ้องจับผิด หากวิตกกังวลมากๆ อาจมีอาการที่แสดงออกมาให้เห็นชัดเจน เช่น อาการหน้าแดง เหงื่อออก คลื่นไส้ หัวใจเต้นเร็ว ปวดหัว และอาจพบในคนที่ดูภายนอกปกติธรรมดามากๆ ไม่แสดงอาการอะไรออกมาจนกระทั่งอยู่ในสถานการณ์ที่รายล้อมไปด้วยคนที่คาดหวังในตัวเขาหรือเธอ โดยสาเหตุอาจมาจากการเลี้ยงดูที่ไม่ได้มอบความมั่นใจให้กับเขา การขาดทักษะการเข้าสังคม รวมไปถึงการทำงานที่ผิดปกติของระบบประสาท และสมองด้วย
- โรคกลัวแบบเฉพาะ (Phobia)
ในสังคมไทยพบผู้ที่มีโรคกลัวแบบเฉพาะไม่น้อยเช่นกัน เช่น กลัวเลือด กลัวแมลง กลัวรู กลัวความมืด กลัวความสูง กลัวที่แคบ กลัวน้ำ เป็นต้น แม้ว่าสิ่งที่กลัวจะดูไม่สมเหตุสมผลนัก แต่ก็ไม่สามารถบังคับตัวเองไม่ให้หยุดกลัวได้ และพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับสิ่งนั้นตรงๆ อาการที่พบมีได้หลายอย่าง ส่วนใหญ่จะเป็นอาการตกใจ ช็อก มือเย็นตัวเย็น เหงื่อออก หายใจลำบาก เป็นต้น
- โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder)
เป็นความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นจากการคิดย้ำไปย้ำมา ทำให้ตอบสนองต่อเหตุการณ์เดิมๆ ซ้ำๆ เช่น เดินเข้าเดินออกจากบ้านเพื่อเช็กความเรียบร้อยของบ้านบ่อยเกินไป เป็นต้น แม้ว่าจะไม่ใช่อาการรุนแรงมาก แต่การทำบางสิ่งบางอย่างย้ำๆ ซ้ำๆ มากเกินไป ก็อาจจะเสียดายเวลาชีวิต รวมถึงการสร้างความลำบากให้กับตัวเองหากต้องเดินทางกลับไปกลับมาในระยะไกลบ่อยๆ หรือทำอะไรซ้ำๆ จนงานที่ทำไม่คืบหน้า หากสงสัยว่าตัวเองอาจเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ ควรปรึกษาแพทย์
การพบจิตแพทย์ ไม่ต้องรอจนเป็นโรคแล้วค่อยเข้ารับการรักษาก็ได้ หากมีความเครียด ความวิตกกังวลจนเกิดปัญหากระทบกับวิถีชีวิตประจำวัน ควรรีบเข้าพบจิตแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อรักษาให้หายเป็นปกติได้ไวยิ่งขึ้น