รู้หรือไม่ ติด โควิด-19 เสี่ยงเป็นเบาหวานตามมา
ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานทั้งในช่วงติดเชื้อและหลังรักษาหายแล้วได้ โดยการเกิดเบาหวานหลังการติดเชื้อสามารถเกิดได้ทั้งคนที่ได้รับเชื้อในปริมาณมากและปริมาณน้อย ทั้งคนที่สุขภาพแข็งแรงก็มีความเสี่ยงไม่น้อยไปกว่ากัน
ทำไม ติด โควิด-19 เสี่ยงเป็นเบาหวานตามมา
พญ. รัตนพรรณ สมิทธารักษ์ อายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อ และเมตะบอลิสม โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า เมื่อติดเชื้อโควิด-19 แล้วมีโอกาสสูงถึง 1.4 เท่า ที่จะทำให้เกิดโรคเบาหวานตามมาได้ โดยเบาหวานจากโควิด-19 เกิดจากการติดเชื้อจนทำให้เกิดการอักเสบในหลายระบบและส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น หากน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นจะส่งผลให้ตัวโรคแย่ลง ถ้าไม่สามารถคุมได้จะทำให้เลือดมีความเข้มข้นมากขึ้น จนทำให้สมองทำงานผิดปกติ แสดงความรู้สึกได้ลดลงจนเกิดอาการซึม และเชื้ออาจทำลายตับอ่อนจนทำให้ไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เป็นปกติ
สามารถเกิดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยในฝั่งยุโรปโอกาสเกิดเบาหวานชนิดที่ 1 ในเด็กเพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ และกว่าครึ่งจะเข้ารับการรักษาด้วยภาวะเลือดเป็นกรด มาด้วยอาการปัสสาวะบ่อย ปากแห้ง คอแห้ง หายใจเร็ว มีอาการหอบ เหนื่อย ในกรณีที่เกิดจากการรักษา คือ คนไข้ติดเชื้อรุนแรงจนต้องมีการให้ยาสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบ จนอาจทำให้เกิดเบาหวานชนิดที่ 2 ในผู้ใหญ่ได้ชั่วคราว เมื่อหยุด สเตียรอยด์แล้วเบาหวานก็จะดีขึ้น
หายจากโควิด-19 แล้ว ก็ยังเสี่ยงเป็นเบาหวานได้
นอกจากนี้เบาหวานยังสามารถเกิดหลังจากรักษาหายแล้ว 1-3 เดือนได้ ด้วยการโดนกระตุ้นจากการติดเชื้อที่ผ่านมา โดยสามารถเกิดได้ทั้งคนที่มีการติดเชื้ออย่างหนักและคนที่ติดเชื้อไม่มากได้ จะเรียกว่า โรคแทรกซ้อนจากภาวะ Long COVID โดยไม่นับคนที่เป็นเบาหวานอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม จากคนไข้ 40–50 เปอร์เซ็นต์ สามารถหายได้เองในช่วงระยะเวลา 1 ปีหลังจากการรักษา ในคนที่เป็นเบาหวานอยู่แล้วเกิดการติดเชื้อโควิด-19 ความรุนแรงของโรคจะมากกว่าคนที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน และตัวโรคเองก็จะคุมได้ยากขึ้น ความรุนแรงของคนที่เป็นเบาหวานแล้วติดเชื้อโควิด-19 จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเชื้อที่ได้รับ โดยจะสัมพันธ์กันทั้ง 2 ฝ่าย คือโควิด-19 ทำให้เบาหวานแย่ลง หรือ เบาหวานทำให้อาการจากโควิด-19 แย่ลงได้เช่นเดียวกัน รวมถึงอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวานเฉียบพลันได้ เช่น ภาวะเลือดเป็นกรด ภาวะซึมจากน้ำตาลในเลือดสูง เป็นต้น และทำให้ความซับซ้อนของเบาหวานเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งยาบางตัวที่ใช้รักษาอาจจะใช้ไม่ได้ในช่วงที่มีการติดเชื้อโควิด-19 ต้องคอยปรับยาและการรักษาอยู่เรื่อยๆ
แนวทางในการรักษาเบาหวานจากโควิด-19
แนวทางการรักษาเมื่อเกิดเบาหวานจากการติดเชื้อโควิด-19 ในปัจจุบันยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน โดยในคนที่มีความเสี่ยงสูงคือ อายุ 60 -65 ปีขึ้นไป มีภาวะน้ำหนักเกินคนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ ความดันสูง ไขมันสูง โรคหัวใจ เป็นต้น ควรตรวจเพื่อหาเบาหวานแต่เนิ่นๆ ถ้ามีอาการปัสสาวะบ่อย ปากแห้ง ดื่มน้ำมากกว่าปกติ หรือ ในคนที่ประวัติการรับเชื้อโควิด-19 แบบรุนแรง หลังจากรักษาหายแล้ว ควรเข้ารับการตรวจเช่นเดียวกัน นอกจากนี้การดูแลตัวเอง ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้โอกาสเสี่ยงในการเกิดเบาหวานลดลงได้