กลัวมั้ย! เบาหวานลงไต

กลัวมั้ย! เบาหวานลงไต

กลัวมั้ย! เบาหวานลงไต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อ.นพ.ไพฑูรย์ ขจรวัชรา 
สาขาวิชาวักกะวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

หากกล่าวถึงโรคเบาหวานแล้วหลายคนอาจส่ายหน้าและรู้สึกกลัว แต่ที่น่ากลัวยิ่งกว่าก็คือ โรคแทรกซ้อนต่างๆ ที่ตามมา ที่ล้วนแต่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเป็นส่วนใหญ่  และที่อยู่ในอันดับต้นๆ คือ “โรคไตจากเบาหวาน”  ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด “โรคไตวาย” เป็นอันดับหนึ่ง ในประเทศไทย ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้โรคไตจากเบาหวานมาย่างกราย เราควรรู้เท่าทันเพื่อป้องกันครับ

เกิดขึ้นได้อย่างไร โรคไตจากเบาหวาน
เมื่อเป็นโรคเบาหวานและไม่สามารถควบคุมน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีได้ ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเป็นระยะเวลานานก็จะก่อให้เกิดอันตรายต่อเซลล์ที่บริเวณอวัยวะต่าง ๆ  เช่น ตา  ระบบประสาทส่วนปลาย ไต หัวใจและหลอดเลือด  

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไตจากเบาหวาน นอกจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงจนเกิดอันตรายต่อเซลล์ที่ไตแล้ว  ยังทำให้เกิดความดันในหลอดเลือดฝอยในไต และอัตราการกรองของไตสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อไต

โรคไตจากเบาหวานแบ่งได้เป็น 5 ระยะ

ระยะที่ 1 และ 2   -
  อาจไม่มีอาการ หรือมีเพียงอาการที่เกิดจากโรคเบาหวาน เช่น ปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย ถ้าตรวจอัตราการกรองของไตจะพบว่าสูงขึ้นกว่าคนปกติร้อยละ 20 - 40  ขนาดของไตอาจใหญ่ขึ้น   การตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของไต (ครีอะตินีนในเลือด) จะพบว่าปกติ  ตรวจปัสสาวะอาจพบน้ำตาลในปัสสาวะ แต่ไม่พบอัลบูมินในปัสสาวะ หรือพบน้อยกว่า 30 มิลลิกรัมต่อวัน

ระยะที่ 
3   -  พบในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ที่เป็นเบาหวานมานานมากกว่า 5 ปี  ส่วนในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 อาจพบได้ตั้งแต่เริ่มตรวจเจอว่าเป็นเบาหวาน   การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ เริ่มตรวจพบอัลบูมินในปัสสาวะ อยู่ในช่วง 30 - 300 มิลลิกรัมต่อวัน ถ้าตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของไตพบว่าปกติ  ความดันโลหิตจะสูงขึ้น   ระยะนี้เรียกว่า microalbuminuria   …ถ้ามีการดูแลรักษาที่ดีอาจมีการเปลี่ยนกลับไปเป็นระยะที่ 2 ได้  ในทางกลับกันถ้าการดูแลรักษาไม่ดี  ร้อยละ 50 - 80 ของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และร้อยละ 20-40 ของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2  จะมีการดำเนินของโรคไปสู่ระยะที่ 4 

ระยะที่ 4  -
  จะพบอัลบูมินในปัสสาวะมากกว่า 300 มิลลิกรัมต่อวัน การตรวจเลือดอาจพบว่าครีอะตินีนสูงกว่าปกติซึ่งแสดงว่าการทำงานของไตลดลง   ร้อยละ 70 ของผู้ป่วยจะมีความดันโลหิตสูง  ถ้ามีการดูแลรักษาที่ดีอัลบูมินในปัสสาวะอาจลดลงหรือหายไปได้และสามารถชะลอการเสื่อมของไตได้   แต่ถ้าการดูแลรักษาไม่ดีการทำงานของไตจะลดลงอย่างต่อเนื่องจนเกิดไตวายได้ ร้อยละ 20-50 ในระยะเวลา      5 - 10 ปี ระยะนี้เรียกว่า macroalbuminuria

ระยะที่ 5  -
  ระยะนี้การทำงานของไตลดลงจนเป็นไตวาย จะมีปัสสาวะน้อย บวมตามร่างกาย เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน

*** อัลบูมิน คือ โปรตีนชนิดหนึ่งในร่างกาย ***

 

การป้องกันและดูแลโรคไตจากเบาหวาน

1. ควบคุมน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีโดย
มีระดับน้ำตาลสะสม ( HbA1C ) น้อยกว่าร้อยละ 7 การควบคุมน้ำตาลสามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคไตจากเบาหวาน  ลดปริมาณอัลบูมินในปัสสาวะ  นอกจากนี้ยังช่วยลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

2. ควบคุมความดันโลหิตให้ต่ำกว่า 
130/80 มิลลิเมตรปรอท  โดยจำกัดเกลือที่รับประทานให้น้อยกว่า 2 กรัมต่อวัน  หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็ม ในกรณีที่ใช้ยาลดความดันโลหิตควรใช้กลุ่ม ACEI หรือ ARB เป็นอันดับแรก  ประโยชน์ของการควบคุมความดันโลหิต คือ ช่วยลดการเกิดโรคไตจากเบาหวาน  ลดปริมาณอัลบูมินในปัสสาวะ  ช่วยชะลอการเสื่อมของไต  ช่วยลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

3. ควบคุมไขมันไม่ดีชนิดแอลดีแอล
 ( LDL ) ให้น้อยกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร   ในผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสูง  การควบคุมไขมันไม่ดีชนิดแอลดีแอลช่วยลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ยังอาจช่วยลดอัลบูมินในปัสสาวะและอาจชะลอการเสื่อมของไต

4. จำกัดโปรตีนในอาหาร
   อาจช่วยชะลอการเสื่อมของไต โดยปริมาณโปรตีนที่เหมาะสม คือ 0.8 กรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน  ซึ่งสามารถขอคำปรึกษากับนักกำหนดอาหารหรือแพทย์ในสถานพยาบาลที่ท่านรักษาเพื่อขอคำแนะนำปริมาณโปรตีนตามที่เหมาะสม

5. เลิกสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด
   เพราะหากยังดื้อสูบต่อไป จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตจากเบาหวานและทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น  แถมยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

6. ระมัดระวังการรับประทานยาแก้ปวดลดการอักเสบกลุ่มเอ็นเสด 
(NSAID) เพราะอาจทำให้เกิดไตวายหรือการทำงานของไตลดลงอย่างรวดเร็ว  ดังนั้น ผู้ป่วยโรคไตจากเบาหวานที่มีการทำงานของไตลดลงควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานยา   

7. ถ้ามีอาการผิดปกติของทางเดินปัสสาวะ ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลเพื่อหาสาเหตุและทำการรักษาต่อไป
 เช่น ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะไม่สุด ปัสสาวะแสบขัด  ภาวะเหล่านี้อาจซ้ำเติมให้โรคไตจากเบาหวานแย่ลง 

 

ความเสี่ยงต่อชีวิต ที่ผู้ป่วยโรคไตจากเบาหวานไม่ควรทำ

- ละเลยที่จะไปพบแพทย์ตามนัดปล่อยให้การรักษาขาดช่วง

- ไม่ปฏิบัติตามแผนการรักษา เช่น ไม่ควบคุมอาหาร รับประทานยาไม่สม่ำเสมอ

- รับประทานยาหม้อ ยาสมุนไพร เพื่อรักษาโรคเบาหวานและหรือโรคไตโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ 


จากที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าเราสามารถป้องกันไม่ให้ป่วยได้ เพียงแค่ควบคุมดูแลสุขภาพให้ดีอยู่เสมอ ลดพฤติกรรมเสี่ยงที่จะส่งผลให้กลายเป็นโรคโตจากเบาหวาน เพราะโรคไตจากเบาหวานเป็นโรคแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน อีกทั้งอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้น และมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูง โดยเฉพาะเมื่อเกิดไตวาย ต้องฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้องซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายสูงถึง  20,000 - 30,000  บาทต่อเดือน   อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานสามารถลดโอกาสที่จะเกิดโรคไตจากเบาหวานได้ถ้าได้รับการรักษาและปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องครับ

ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก istockphoto

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook