จุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร หากมีไม่สมดุล เสี่ยงโรค
- จุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารมีมากถึง 5,000 ชนิด แบ่งเป็น กลุ่มที่เป็นอันตรายหรือก่อโรค และกลุ่มส่งเสริมสุขภาพ หากจุลินทรีย์ขาดสมดุลอาจทำให้เกิดความผิดปกติของร่างกายบางครั้งได้
- การรับประทานอาหารและชนิดของอาหารมีผลต่อจุลินทรีย์ หากรับประทานอาหารประเภทเดิมๆ ซ้ำๆ หรืออาหารขยะ อาจทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อจุลินทรีย์ไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะพรีไบโอติกส์ ที่มีความสำคัญต่อจุลินทรีย์ต่างๆ ในร่างกาย
- การตรวจสมดุลจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร (Gut Microbiome) สามารถวิเคราะห์จุลินทรีย์ได้มากกว่า 100 สายพันธุ์ และสามารถวิเคราะห์ผลที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงได้ถึง 9 โรค
พญ. จิตแข เทพชาตรี แพทย์เวชศาสตร์ชะลอวัยและแพทย์ผิวหนัง รพ. สมิติเวช สุขุมวิท ระบุว่า ร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยเซลล์จำนวนมากกว่า 100 ล้านล้านเซลล์ แต่เซลล์มนุษย์แท้จริงมีเพียง 30 ล้านเซลล์ ที่เหลืออีกกว่า 100 ล้านล้านเซลล์ เป็นเซลล์ของจุลินทรีย์ หรือจุลชีพ (Microorganism) ซึ่งอาศัยอยู่ในส่วนต่างๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นบริเวณผิวหนัง ช่องปาก ช่องคลอด และอยู่ที่ระบบทางเดินอาหารมากที่สุด โดยเฉพาะในลำไส้ (Intestinal tract) ซึ่งมีมากถึง 5,000 ชนิด
จุลินทรีย์ ประกอบไปด้วย แบคทีเรีย (Bacteria) ไวรัส (Viruses) เชื้อรา (Fungi) ปรสิต (Parasites) โดยอยู่แบบพึ่งพาอาศัยกัน (Symbiosis) บางชนิดมีส่วนช่วยป้องกันโรค กระตุ้นกระบวนการเผาผลาญ การย่อยอาหาร และการขับถ่าย บางชนิดช่วยสร้างสารที่จำเป็นต่อร่างกาย เสริมระบบภูมิคุ้มกัน ขณะเดียวกันความผิดปกติของร่างกายบางครั้งอาจเกิดจากการที่จุลินทรีย์ขาดสมดุล
ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงทำการศึกษารหัสพันธุกรรมของจุลินทรีย์ที่เรียกว่า ไมโครไบโอม (Microbiome) เพื่อบ่งบอกชนิด จำนวน รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างจุลินทรีย์และอวัยวะในร่างกายมนุษย์ที่จุลินทรีย์เหล่านั้นอาศัยอยู่ ซึ่งมีประโยชน์ต่อการดูแลรักษาสุขภาพ ทั้งการทำนายโรค การเลือกวิธีรักษา รวมถึงการป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ประโยชน์ของจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร
ด้วยความหลากหลายของจุลินทรีย์และจำนวนที่แตกต่างกัน จึงมีบทบาทสำคัญที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ จุลินทรีย์ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
- จุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายหรือก่อโรค (Harmful/Pathogenic) ทำให้เกิดโรคได้โดยการสร้างสารพิษภายในร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรค เช่น
- เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่ทําให้เกิดโรคในกระเพาะอาหาร เพิ่มความเสี่ยงโรคแผลกระเพาะอาหาร เนื้องอก และมะเร็งในกระเพาะอาหาร
- จุลชีพบริเวณลำไส้ใหญ่บางชนิด หรือ แบคทีเรียในลําไส้ ก็มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ลำไส้อักเสบเรื้อรัง รวมถึงการส่งผลให้เกิดภาวะอ้วน โรคหัวใจ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคไขมันพอกตับ โรคตับแข็ง และมะเร็งตับ
- จุลินทรีย์กลุ่มส่งเสริมสุขภาพ (Health Promoting function) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่ร่างกายต้องการ เช่น
- Lactobacillus ช่วยยับยั้งและป้องกันไม่ให้แบคทีเรียก่อโรคเจริญเติบโต
- Eubacteria / Bifidobacteria ช่วยสังเคราะห์สารอาหารที่ร่างกายต้องการ เป็นเกราะป้องกันเชื้อโรค กระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยช่วยในการย่อยอาหารหรือการดูดซึมสารอาหาร
จุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร หากมีไม่สมดุล เสี่ยงโรค
หากจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารไม่สมดุล จะส่งผลต่อสุขภาพต่างๆ ดังนี้
- อารมณ์แปรปรวน
- ภาวะซึมเศร้าหรือความวิตกกังวล
- ภาวะอ้วน
- โรคผิวหนัง เช่น กลาก
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
- โรคเบาหวาน
- มะเร็ง
- โรคตับ
- ปัญหาสุขภาพช่องปาก เช่น ฟันผุ
การตรวจสมดุลจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร (Gut Microbiome)
แม้อาการบางอย่าง เช่น อาหารไม่ย่อย อารมณ์แปรปรวน และโรคผิวหนัง อาจบ่งบอกถึงความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร แต่ก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้เช่นกัน ดังนั้น เพื่อให้แน่ใจว่าความเชื่อมโยงของอาการเหล่านี้สัมพันธ์กับความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร สามารถตรวจวิเคราะห์สมดุลจุลินทรีย์ได้
การตรวจสมดุลจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร (Gut Microbiome) เป็นการตรวจความสมดุลระหว่างจุลินทรีย์ชนิดดีและไม่ดีในร่างกาย ผ่านตัวอย่างอุจจาระที่นำไปตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อช่วยให้ทราบได้ว่า
- ในร่างกายเรามีความหนาแน่น (Density) ของจุลินทรีย์เป็นอย่างไร และมีปริมาณและความหลากหลายของจุลินทรีย์เพียงพอหรือไม่
- จุลินทรีย์ในร่างกายมีความสมดุลหรือไม่
- จุลินทรีย์ที่พบมีผลต่อร่างกายอย่างไร
หากตรวจพบความหนาแน่น ความหลากหลาย และประโยชน์ของจุลินทรีย์อยู่ในสถานะขาดสมดุล จะส่งผลให้มีความเสี่ยงการเกิดโรคมากกว่า เมื่อเทียบกับผู้ที่มีจุลินทรีย์อยู่ในสภาวะสมดุล การตรวจนี้ช่วยให้แพทย์ประเมินความเสี่ยงการเกิดโรค รวมถึงวินิจฉัยสาเหตุของโรคที่อาจเกิดจากการเสียสมดุลของจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารได้ เช่น โรคลำไส้แปรปรวน ภาวะอ้วน โรคเบาหวาน ไมเกรน โรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้า
การปรับสมดุลลำไส้ด้วยโพรไบโอติกส์ และการปรับพฤติกรรม
นอกจากนี้ แพทย์ยังสามารถแนะนำสารอาหารเพื่อช่วยเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น โพรไบโอติกส์ และพรีไบโอติกส์ ทั้งในรูปแบบของอาหาร และอาหารเสริม รวมถึงการปรับพฤติกรรม การนอนหลับ และการออกกำลังกายให้เหมาะสม ดังนี้
- สมาคมระหว่างประเทศ IASD แนะนำให้ผู้ใหญ่นอนหลับ 6-8 ชั่วโมง โดยพบว่าการนอนหลับอย่างเพียงพอจะช่วยให้ร่างกายได้พักผ่อนและลดความเครียด ช่วยให้สภาพแวดล้อมในลำไส้มีสุขภาพดีกว่าการนอนน้อยหรือนอนไม่หลับเป็นประจำ
- ออกกำลังกายเป็นประจำมากกว่า 30 นาทีต่อวัน 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของลำไส้ ลดการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่เป็นอันตรายและยังช่วยเพิ่มความหลากหลายของจุลินทรีย์
- ลดการบริโภคเนื้อสัตว์แปรรูป อาหารสำเร็จรูป
- ลดอาหารรสเผ็ด เค็ม หรือรสจัด
- ลดการบริโภคอาหารที่มีไขมันและคาร์โบไฮเดรตสูง
- บริโภคโพรไบโอติกส์ (จุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์) พร้อมกับพรีไบโอติกส์ (ทำหน้าที่เป็นอาหารสำหรับจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์) เพื่อช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและปรับสมดุลการทำงานของลำไส้ ทั้งนี้ การรับประทานโพรไบโอติกส์ปริมาณมากในคราวเดียวอาจส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น ท้องอืด ท้องผูก หรือท้องร่วงได้ จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อการบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม
สภาวะขาดสมดุลของจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร
การมีสภาวะสมดุลของจุลินทรีย์ที่ดีต่อสุขภาพ (Healthy microbiome) จะช่วยสร้างชั้นเมือก (mucus layer) ที่เป็นเกราะป้องกันให้กับเซลล์เยื่อบุผิว (epithelial cell) ทำให้แบคทีเรียก่อโรค (harmful bacteria) ไม่สามารถเจาะเข้าไปในผนังลำไส้ได้ หากเกิดภาวะขาดสมดุลของแบคทีเรียที่มีประโยชน์ในระบบทางเดินอาหาร อาจไม่มีกระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้น และส่งผลให้อาจเพิ่มโอกาสในการเกิดโรคบางชนิด เช่น โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือ IBD (Inflammatory Bowel Disease) และ โรคลำไส้แปรปรวน หรือ IBS (Irritable Bowel Syndrome) ซึ่งมีปัจจัยจากสภาวะการขาดสมดุลของจุลินทรีย์ มีจุลินทรีย์ก่อโรคเพิ่มขึ้น รวมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะ ทำให้จุลินทรีย์ก่อโรคสามารถเจาะเข้าไปยังเซลล์เยื่อบุผิว ส่งผลให้เกิดการอักเสบและเสี่ยงต่อการเป็นโรคในระบบทางเดินอาหารได้
สภาวะขาดสมดุลของจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร
สภาวะขาดสมดุลของจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร สามารถส่งผลให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ดังนี้
- กลุ่มอาการการดูดซึมผิดปกติ (Malabsorption syndrome)
ในสภาวะปกติ ที่แบคทีเรียที่ดีต่อสุขภาพในลำไส้สามารถทำงานได้ตามปกติ อาจไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ แต่หากมีการผ่าตัดช่องท้อง ภาวะเบาหวาน โรคหนังแข็ง (Scleroderma) การตัดกระเพาะอาหารหรือลำไส้ จะส่งผลทำให้ความสมดุลของแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหารเปลี่ยนแปลงไป ทำให้แบคทีเรียที่ก่อโรคเจริญเติบโต เพิ่มจำนวนมากกว่าปกติ (Overgrowth of pathogenic) และอาจทำให้เกิดภาวะของการดูดซึมอาหารผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นการดูดซึมไขมัน คาร์โบไฮเดรต โปรตีน รวมถึงวิตามิน B12
- การติดเชื้อคลอสตริเดียม ดิฟฟิไซล์ (Clostridium difficile infection; CDI)
ในสภาวะปกติ ภายในระบบทางเดินอาหารมีแบคทีเรียที่เรียกว่า จุลินทรีย์สังเคราะห์กรดน้ำดีทุติยภูมิ (secondary bile acids synthesizing microbes) เป็นจุลินทรีย์ที่ช่วยเปลี่ยนกรดน้ำดีปฐมภูมิให้เป็นกรดน้ำดีทุติยภูมิ ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อคลอสตริเดียม ดิฟฟิไซล์ ทำให้ไม่สามารถหลั่งสารพิษที่ก่อให้เกิดอาการเยื่อบุผิวลำไส้อักเสบและท้องเสียได้
การรับประทานยาปฏิชีวนะนอกจากจะไปทำลายแบคทีเรียตัวร้าย จุลินทรีย์สังเคราะห์กรดน้ำดีทุติยภูมิก็ถูกทำลายด้วยเช่นกัน ดังนั้น หากมีการรับเชื้อคลอสตริเดียม ดิฟฟิไซล์ เข้าไปในร่างกาย เมื่อเจริญเติบโตขึ้น จะหลั่งสารพิษส่งผลให้เยื่อบุผิวลำไส้เกิดการอักเสบ - ลำไส้อักเสบ (Inflammatory Bowel Disease ;IBD)
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับโรค คือ พันธุกรรม ภูมิคุ้มกัน และสิ่งแวดล้อม (อาหาร) ซึ่งในภาวะปกติร่างกายจะมีแบคทีเรียตัวดี เช่น แบคทีรอยด์ดีส (Bacteroides) และ เฟอร์มิคิวเทส (Firmicutes) ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และมีการสร้างชั้นเมือก ป้องกันไม่ให้เชื้อโรคทะลุผ่านเข้าไปยังระบบทางเดินอาหาร หากพันธุกรรมและภูมิคุ้มกันผิดปกติจะส่งผลให้เกิดการอักเสบต่อเนื้อเยื่อ ทำให้ความหลากหลายของแบคทีเรียลดลง แบคทีเรียก่อโรคหลั่งสารพิษ ทำให้ลำไส้เกิดการอักเสบ - ลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome ;IBS)
ภาวะลำไส้แปรปรวน มีหลากหลายชนิด ขึ้นอยู่กับแบคทีเรียตัวร้ายที่เป็นสาเหตุ การตรวจเพื่อค้นหาชนิดของแบคทีเรียจะช่วยให้สามารถรักษาได้ตรงจุดมากขึ้น เชื้อเอนเทอโรแบคทีเรียซีอี (Enterobacteriaceae) เป็นแบคทีเรียตัวร้ายที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร แลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) เป็นแบคทีเรียที่ผลิตกรดจากกระบวนการหมักของน้ำตาลโมเลกุลคู่ ที่อาจทำให้ปวดท้องและท้องอืด แบคทีรอยด์ดีส (Bacteroides) เป็นแบคทีเรียที่มักพบในกลุ่มคนไข้ลำไส้แปรปรวน ที่มีอาการท้องเสีย สำหรับไบฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) และเฟคาลิแบคทีเรียม (Faecalibacterium ) เป็นแบคทีเรียตัวดีที่ผลิตสารต้านการอักเสบของลำไส้ - โรคอ้วนและกลุ่มอาการผิดปกติทางเมแทบอลิก (Obesity & metabolic Syndrome)
โรคอ้วน เป็นภาวะที่มีไขมันสะสมในร่างกายมากเกินไป โดยเฉพาะบริเวณช่องท้อง (visceral fat) ซึ่งสามารถกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของร่างกายได้ ภาวะการอักเสบจะส่งผลทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน และเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งแบคทีเรียคริสเตนเซเนลลาซี (Christensenellaceae) จะช่วยปรับสมดุลแบคทีเรียในลำไส้ ช่วยป้องกันการเกิดภาวะไขมันในช่องท้อง ไขมันในเลือดสูง กลุ่มอาการผิดปกติทางเมแทบอลิกและโรคเบาหวาน
นอกจากนี้ ยังพบว่าคนอ้วนมีแบคทีเรียอัคเคอร์มันเซีย มูซินิฟิลา (Akkermansia muciniphila) อยู่ในจำนวนน้อย ซึ่งแบคทีเรียชนิดนี้เป็นแบคทีเรียที่มีความเกี่ยวข้องกับการลดน้ำหนัก โดยแบคทีเรียความผอมนี้จะไปกระตุ้นการสร้างเมือก เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับผนังลำไส้ และต้านการอักเสบในระบบลำไส้ - โรคหัวใจและหลอดเลือดที่เกิดจากการรับประทานเนื้อแดง (Cardiovascular disease associated with meat intake)
แบคทีเรียไบฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) และ ดีฮาโลแบคทีเรียม (Dehalobacterium) ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างสารอาหารที่ดี แต่หากมีการบริโภคเนื้อแดงซึ่งมีสาร Phosphatidylcholine สูง พร้อมกับการมีแบคทีเรียตัวไม่ดี เช่น คลอสตริเดียซ (Clostridiaceae) และไนซีเรียซ (Neisseriaceae) อยู่ในลำไส้ด้วยแล้ว จะไปเปลี่ยน Trimethylamine (TMA) ซึ่งถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและถูกเผาผลาญโดยตับ ให้เปลี่ยนเป็น Trimethylamine N-oxide (TMAO) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ การตรวจสมดุลของแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหารจะช่วยวินิจฉัยความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เกิดจากการรับประทานเนื้อแดงเบื้องต้นได้ - ติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ (Colon Polyps)
จากงานวิจัยพบว่า ในกลุ่มคนไข้ที่มีติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่จะพบฟูโซแบคทีเรียม (Fusobacterium) มากกว่าคนปกติถึง 415 เท่า ซึ่งฟูโซแบคทีเรียมนี้จะไปยับยั้งระบบภูมิต้านทานที่ต่อต้านมะเร็ง โดยไปยับยั้งการทำงานของเซลล์ NK Cell (Natural Killer Cell) หรือเซลล์นักฆ่าตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง ที่สำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกันโดยธรรมชาติของร่างกาย - โรคเบาหวาน
จุลินทรีย์ในลําไส้จะไปช่วยย่อยสลายใยอาหารบางชนิดที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้ โดยการหมักใยอาหาร และสร้างสารแมทาบอลิซึม ที่เรียกว่า กรดไขมันสายสั้น (short-chain fatty acids) ที่ทำหน้าที่กระตุ้นการทำงานของเบต้าเซลล์ (beta cell ) ซึ่งเป็นประเภทของเซลล์ที่พบในตับอ่อน ทำหน้าที่สังเคราะห์และหลั่งอินซูลิน ส่งผลให้ภาวะดื้อต่ออินซูลินลดลง และช่วยลดการอักเสบในเลือด รวมถึงลดการเกิดภาวะลำไส้รั่ว (Leaky gut) ซึ่งเป็นอีกภาวะที่ทำให้เกิดการอักเสบของร่างกาย โดยแบคทีเรียที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ ได้แก่ แบคทีเรียไบฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) โรสเบิร์ก (Roseburg spp) และ ฟีคอลลิแบคทีเรียม (Faecalibacterium prausnitzii)
ความแตกต่างของจุลินทรีย์ในร่างกาย
- ในแต่ละช่วงอายุจะมีรูปแบบของจุลชีพ (microbiota pattern) ที่แตกต่างกัน
- ระยะที่อยู่ในครรภ์มารดาถือเป็นเขตปลอดเชื้อ ซึ่งสัญญาณต่างๆ ที่เกิดจากจุลินทรีย์เป็นลักษณะสัญญาณที่เกิดจากจุลชีพในร่างกายของแม่ไปสู่ลูก หากแม่มีความเครียด รับประทานยาหรืออาหาร ซึ่งมีผลต่อจุลินทรีย์ของแม่ ผลต่างๆ จะถูกส่งไปถึงลูกได้ด้วยเช่นกัน
- ช่องทางการคลอด เป็นสิ่งแรกที่ทารกจะเริ่มมีการสัมผัสกับจุลินทรีย์ชนิดต่างๆ
- การคลอดแบบธรรมชาติ (Vaginal Delivery) จะมีแบคทีเรียชนิดแลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) มากกว่าการผ่าคลอดทางหน้าท้อง
- การผ่าคลอดทางหน้าท้อง จะมีแบคทีเรียสตาฟีโลคอคคัส (Staphylococcus) เพิ่มขึ้น
- ทารกที่กินนมแม่จะมีบิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) และแลคโตบาซิลลัส ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ตัวดีเพิ่มขึ้น และเมื่อเริ่มกินนมจากขวด จะมีแบคทีเรียแบคทีรอยเดส (Bacteroides) และคลอสตริเดียม (Clostridium) เพิ่มมา
- เมื่อรับประทานอาหารแบบผู้ใหญ่ และเริ่มใช้ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) จะส่งผลให้รูปแบบของจุลินทรีย์เปลี่ยนไป ทั้ง ชนิดและความหลากหลาย
- การรับประทานอาหาร (Diet) และชนิดของอาหารมีผลต่อจุลินทรีย์ค่อนข้างชัดเจน หากรับประทานอาหารประเภทเดิมๆ ซ้ำๆ หรืออาหารขยะ อาจทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อจุลินทรีย์ไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะพรีไบโอติกส์ (prebiotics) ที่มีความสำคัญต่อจุลินทรีย์ต่างๆ ในร่างกาย
- การออกกำลังกาย และภูมิประเทศ (Geographic) มีผลต่อจุลินทรีย์เช่นกัน โดยที่อยู่อาศัยมีความสัมพันธ์กับอาหารที่ส่งเสริมแบคทีเรียที่ดี เช่น กิมจิ น้ำปลาร้า นัทโตะ ซึ่งพบมากกว่าโซนยุโรป
สัญญาณเตือนว่าอาจมีปัญหาสมดุลจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร
สัญญาณเตือนว่าอาจมีปัญหาสมดุลจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร ได้แก่
- มีอาการระบบทางเดินอาหารผิดปกติ หรือลำไส้แปรปรวน เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หรือท้องผูก
- มีปัญหาไมเกรนหรือนอนไม่หลับ
- เป็นสิวอักเสบ
- ผู้ที่เป็นผื่นภูมิแพ้ เป็นๆ หายๆ
- เป็นหอบหืด
- มีระบบการเผาผลาญไม่ดี
- มีความเสี่ยงเป็นโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคอ้วน โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคอัลไซเมอร์
- มีกลิ่นปาก
- มีเมือกในอุจจาระ
- รับประทายาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน
- ภาวะแพ้คาร์โบไฮเดรต
- เหนื่อยล้าหมดแรง
- ใช้ยาลดกรด เป็นประจำ
- คัดจมูก
** ถ้ามีอาการข้างต้นอย่างน้อย 5 ข้อ หรือมากกว่า อาจมีภาวะความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ในร่างกาย **
การตรวจด้วยเทคนิค Next Generation Sequencing (NGS) ดีอย่างไร
- สามารถวิเคราะห์จุลินทรีย์ ได้ตั้งแต่ระดับสายพันธุ์ (Species) มากกว่า 100 สายพันธุ์ ซึ่งใช้เป็นข้อมูลในการดูแลคนไข้ต่อได้
- สามารถเปรียบเทียบระหว่างแบคทีเรียก่อโรคกับแบคทีเรียที่มีประโยชน์ ได้ว่ามีแบคทีเรียชนิดไหนบ้าง
- สามารถวิเคราะห์ผลที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงได้ 9 โรค ได้แก่ โรคอ้วน โรคลำไส้แปรปรวน เบาหวาน คอเลสเตอรอลสูง โรคหัวใจและหลอดเลือดที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคเนื้อสัตว์ ติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ โรคซึมเศร้า โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และจอประสาทตาเสื่อมที่เกี่ยวข้องกับอายุ
การเตรียมตัวก่อนรับการตรวจสมดุลจุลินทรีย์ ในระบบทางเดินอาหาร (Gut Microbiome)
- ไม่ต้องงดน้ำงดอาหารก่อนตรวจ
- งดยาปฏิชีวนะ ประมาณ 3 วันก่อนตรวจ
การรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อช่วยเสริมสร้างสุขภาพและลดความความเสี่ยงโรคต่างๆ แนะนำให้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ สะอาด ไม่มีสารพิษปนเปื้อน ลดการใช้ยาปฏิชีวนะหรือใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น เพิ่มการรับประทานอาหารที่มีโพรไบโอติกส์และพรีไบโอติกส์สูง รวมถึงการเข้ารับการตรวจสมดุลจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งสามารถตรวจซ้ำได้ทุกๆ 6 เดือนหลังการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือปฏิบัติตัวตามแพทย์แนะนำ เนื่องจากรูปแบบของจุลินทรีย์อาจมีการเปลี่ยนไปได้ตามปัจจัยที่เปลี่ยนแปลง