รู้จัก ภาวะบวมน้ำเหลือง อาการ และอันตรายต่อร่างกาย
พูดถึง “น้ำเหลือง” หลายคนอาจนึกถึงแผลที่อักเสบน้ำเหลืองไหลหรืออะไรที่น่ากลัว ในบางรายอาจพบภาวะ “บวมน้ำเหลือง” ได้ด้วย
ภาวะบวมน้ำเหลือง คืออะไร
จากข้อมูลของ ศูนย์ผิวหนังและศัลยกรรมตกแต่ง โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ระบุว่า ภาวะบวมน้ำเหลือง (Lymphedema) เป็นการคั่งค้างสะสมของน้ำเหลืองชั้นใต้ผิวหนัง เกิดจากทางเดินน้ำเหลืองบริเวณที่ใกล้เคียงกันอุดกั้นหรือถูกทำลาย ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งที่บริเวณแขน ขา และอวัยวะเพศ
สาเหตุของภาวะบวมน้ำเหลือง
- ภาวะที่เกิดขึ้นหลังการผ่าตัดที่ต้องตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณนั้น เช่น การผ่าตัดมะเร็งหรือเนื้องอกบริเวณปากมดลูก เต้านม หรืออัณฑะ และภายหลังได้รับการฉายรังสีรักษาใกล้ขาหนีบ รักแร้
- ผิวหนังเกิดภาวะติดเชื้อ และอักเสบรุนแรง อย่างซ้ำๆ
- ได้รับอุบัติเหตุเป็นแผลลึก
- ภาวะหลอดเลือดดำขอดหรือตีบตัน มักพบมากที่ขา
- พันธุกรรม หรือความผิดปกติของท่อน้ำเหลืองตั้งแต่แรกเกิด
เป็นต้น
อาการภาวะบวมน้ำเหลือง
อาการ ระดับอันตรายหรือความรุนแรงของอาการบวมน้ำเหลือง ขึ้นอยู่กับความเสียหายของหลอดน้ำเหลืองและเนื้อเยื่อข้างเคียง
- ในระยะแรกอาจยังไม่แสดงอาการใดๆ แต่เมื่อผ่านไปสักระยะจะเริ่มมีอาการบวม ใช้นิ้วกดแล้วเป็นรอบบุ๋ม แต่ยุบลงเองได้
- ผิวหนังเริ่มมีความผิดปกติที่สังเกตได้ เช่น มีการสะสมของพังผืดใต้ผิวหนังมาก ผิวมีสีคล้ำและหนาขึ้น
- หากปล่อยให้เกิดอาการผิดปกติที่ผิวหนังเกิดขึ้นนานๆ และไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อใต้ผิวหนัง และอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น เชื้อกระจายเข้าสู่กระแสเลือด ได้
การรักษาภาวะบวมน้ำเหลือง
วิธีการรักษาภาวะบวมน้ำเหลือง ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแพทย์ เพื่อเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วย โดยทั่วไปวิธีรักษาภาวะบวมน้ำเหลือง มีดังนี้
- ยกอวัยวะที่บวมน้ำเหลืองขึ้นสูง ช่วยให้น้ำเหลืองที่คั่งอยู่กลับคืนสู่ร่างกาย
- งดอาการเค็ม ไขมันสูง
- พันผ้ายืดให้ตึงพอดี หรือสวมถุงน่องที่กระชับพอดีตลอดเวลา ถอดเฉพาะเวลาอาบน้ำ
- ขันชะเนาะลดบวม
- นวดด้วยเครื่องอัดลม
- ผ่าตัดด้วยเทคนิค super microsurgery