"บุก" ดีต่อสุขภาพ แต่ควรระวังในการกิน เพื่อการลดน้ำหนัก
บุก ถือว่าเป็นหนึ่งในอาหารยอดนิยมของคนที่กำลังลดน้ำหนัก ลดความอ้วน เพราะเป็นอาหารที่ให้พลังงานต่ำ แต่กินแล้วอยู่ท้อง และสามารถนำมาประกอบอาหารได้อย่างง่ายดาย และหลากหลาย แต่จริงๆ แล้วยังมีข้อควรระวังในการกินบุกเพื่อลดน้ำหนักที่หลายคนอาจไม่เคยรู้อยู่ด้วย
บุก เป็นพืชที่มีใยอาหารสำคัญที่เรียกว่า กลูโคแมนแนน (Glucomannan) ทางการแพทย์และผู้ประกอบการใช้ในการผลิตเป็นอาหารเสริมเพื่อช่วยควบคุมน้ำหนัก และช่วยลดระดับคอเรสเตอรอล รวมถึงทางด้านอุตสาหกรรมใช้ความข้นหนืดของสารกลูโคแมนแนนทำให้เกิดเจลในการทำผลิตภัณฑ์เจลลี่และแยม
ดร.วนะพร ทองโฉม นักวิชาการโภชนาการ ฝ่ายโภชนาการ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า เราสามารถเลือกรับประทานบุกให้เป็นหนึ่งในอาหารในช่วงลดน้ำหนักได้ จากการที่บุกมีเส้นใยอาหารที่ละลายในน้ำได้อยู่สูง รวมถึงให้พลังงานต่ำ สามารถนำมารับประทานแทนอาหารประเภทเส้นที่มักจะทำมาจากแป้งอื่นๆ แทนได้ โดยบุกจำนวน 100 กรัม ให้พลังงานเพียง 10 กิโลแคลอรี่เท่านั้น จึงเป็นอาหารที่แทนอาหารประเภทเส้นได้เป็นอย่างดี (เทียบกับวุ้นเส้นที่ให้พลังงาน 60 กิโลแคลอรี่ ไปจนถึงบะหมี่เหลืองที่ให้พลังงานมากกว่า 200 กิโลแคลอรี่)
ประโยชน์ของบุก
สารอาหารของบุกอาจมีไม่มากหรือไม่โดดเด่น ส่วนใหญ่บุกจะมีใยอาหารที่ละลายในน้ำได้ ซึ่งจากงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า ใยอาหารของบุกที่เรียกว่า กลูโคแมนแนน (Glucomannan) ช่วยในการทำงานของระบบขับถ่าย ช่วยลดน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในเลือด และช่วยลดน้ำหนักได้
อย่างไรก็ตาม การปรุงอาหารด้วยบุกเป็นปัจจัยสำคัญว่าเราจะได้รับประโยชน์จากบุกมากน้อยแค่ไหน หากอยากให้บุกช่วยร่างกายในเรื่องต่างๆ ก็ควรจะปรุงอาหารด้วยบุกอย่างถูกวิธีกันด้วย เช่น การใส่บุกลงไปในอาหารที่มีไขมันสูง น้ำตาลสูง บุกก็ไม่สามารถช่วยลดน้ำตาลและไขมันในเลือดได้เช่นกัน
ข้อควรระวังในการกินบุก เพื่อการลดน้ำหนัก
- การเลือกกินบุกเพื่อช่วยลดน้ำหนัก คือการกินบุกก่อนมื้ออาหาร เพื่อช่วยให้อิ่มท้องเร็วขึ้น กินอาหารอื่นๆ ได้ลดลง จึงทำให้ลดน้ำหนักได้ แต่จริงๆ แล้วในทางการแพทย์ อยากให้ควบคุมปริมาณอาหารที่กินให้เหมาะสม ไม่มุ่งเน้นที่ตัวเลขของน้ำหนักมากจนเกินไป ควรเลือกกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณของแต่ละหมู่ที่ไม่มากเกินไป และออกกำลังกายควบคู่ไปด้วยจะดีที่สุด
- ข้อมูลจากเว็บไซต์ Hello คุณหมอ ระบุว่า เด็กเล็กและหญิงมีครรภ์ ควรระมัดระวังในการรับประทานบุก โดยเด็กเล็กอาจเสี่ยงติดคอได้ ส่วนในหญิงตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดอาการท้องอืดได้เช่นกัน
- บางรายที่มีอาการไวต่ออาหารประเภทใยอาหาร การกินบุกอาจทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องผูก หรือท้องเสียได้ หากมีอาการท้องอืด หรือท้องผูกหลังกินบุก ควรดื่มน้ำให้มากขึ้น
- กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น ลำไส้อุดตัน และอื่นๆ การกินบุกซึ่งเป็นอาหารที่มีใยอาหารสูง อาจเป็นอันตรายได้ ควรปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณที่กินอย่างเหมาะสม
- ในบางรายอาจพบอาการแพ้บุกได้ หากรับประทานบุกแล้วมีอาการแพ้ เช่น มีผื่นขึ้น กายใจติดขัด หรือหัวใจเต้นเร็ว ควรหยุดกินแล้วรับพบแพทย์ทันที