7 เหตุผลที่ทำให้คนลดน้ำหนักด้วยวิธี IF ไม่ได้ผล แถมระบบเผาผลาญพัง
การทำ IF หรือ Intermittent Fasting เป็นหนึ่งในวิธีลดน้ำหนักที่ได้ผลดี และแพทย์แนะนำให้ใช้วิธีนี้ในการควบคุมน้ำหนัก รวมถึงทำให้สุขภาพร่างกายโดยทั่วไปดีขึ้นได้ด้วย แต่หากทำ IF ไม่ถูกวิธี นอกจากจะลดน้ำหนักไม่ได้ผลแล้ว ยังเสี่ยงระบบเผาผลาญพัง อ้วนง่ายอีกด้วย
นพ.นันทพล พงศ์รัตนามาน อาจารย์ที่ปรึกษา แผนกศัลยศาสตร์หลอดเลือด ร.พ.พระมงกุฎเกล้า หรือ หมอท็อป ระบุถึง 7 เหตุผลที่ทำให้คนลดน้ำหนักด้วยวิธี IF ไม่ได้ผล แถมระบบเผาผลาญพัง เอาไว้ดังนี้
- เปลี่ยนแปลงเวลารับประทานอาหารเร็วเกินไป
การเปลี่ยนแปลงเวลาในการกินอาหารรวดเร็วเกินไปจนร่างกายปรับตัวไม่ทัน ร่างกายอาจจะเครียดเกินไป และทำให้เราทำไม่ไหว และอยากจะเลิกทำ เพราะทุกข์ทรมานกับความหิว โดยเฉพาะคนที่ติดหวาน ชอบกินของหวาน จะเริ่มทำ IF ยากกว่าคนอื่น
ดังนั้น ถ้าอยากจะค่อยๆ ปรับร่างกายให้ชินกับเวลาการกินอาหารที่เปลี่ยนแปลง คนที่ติดหวานเริ่มจากการงดขนมระหว่างมื้อ และค่อยๆ ปรับเวลาในการกินที่ 12/12 ก่อน แล้วจึงค่อยปรับเป็นเวลาหยุดกินที่นานขึ้นในภายหลัง
- คิดว่าการทำ IF คือการลดน้ำหนักอย่างเดียว
แม้ว่าการทำ IF จะสามารถลดน้ำหนักได้จริง แต่เป็นเพียงเทคนิคหนึ่งที่ช่วยให้การลดน้ำหนักได้ผล จริงๆ แล้วเราสามารถทำ IF ให้เป็นกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ต้องการลดน้ำหนักเพียงอย่างเดียว เราควรตั้งเป้าหมายในการทำ IF ให้มากกว่าลดน้ำหนัก อาจจะทำ IF เพื่อให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น มีชีวิตที่ดีขึ้น ยืนยาวแข็งแรงขึ้น เป็นต้น
- รับประทานอาหารน้อยเกินไป
เมื่อไรก็ตามที่เรากินอาหารน้อยเกินไป ร่างกายจะเริ่มปรับระบบการเผาผลาญให้ทำงานน้อยลง เพื่อให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะรักษาพลังงานเอาไว้ให้มากที่สุด เพราะร่างกายเริ่มรู้ว่าได้รับอาหารน้อยลงกว่าปกตินั่นเอง ดังนั้นเมื่อทำ IF ระหว่างในเวลาที่กินอาหารได้ ควรกินให้อิ่ม ไม่ควรกินน้อยเกินไป และเลือกอาหารที่ถูกต้อง เช่น อาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำ เป็นต้น
- รับประทานคาร์โบไฮเดรต (แป้ง หรือ น้ำตาล) มากเกินไป
การทำ IF จุดประสงค์คือการทำให้อินซูลินในร่างกายลดลง แต่การกินคาร์โบไฮเดรตมากๆ จะทำให้อินซูลินสูงขึ้น จึงทำให้การทำงานในร่างกายสวนทางกัน และเมื่อไรก็ตามที่ร่างกายมีอินซูลินสูง ร่างกายก็จะเก็บไขมันมากขึ้น และทำให้อ้วนง่าย และหิวง่าย
- รับประทานโปรตีนมากเกินไป
การทำ IF ไม่จำเป็นต้องกินโปรตีนมากจนเกินไป กินให้อยู่ในขนาดที่พอดีๆ หรือราวๆ 1 ฝ่ามือต่อ 1 มื้อ และแนะนำให้กินโปรตีนจากธรรมชาติ มากกว่าโปรตีนสังเคราะห์ โปรตีนชง โปรตีนผง เพราะหากกินโปรตีนมากเกินไป และไม่ได้ออกกำลังกายให้เพียงพอหรือเหมาะสมต่อปริมาณโปรตีนที่กินเข้าไป แทนที่โปรตีนจะช่วยสร้างกล้ามเนื้อ อาจทำให้เราอ้วนมากขึ้นแทนได้
- รับประทานไขมันมากเกินไป
หากเลือกที่จะทำ IF โดยการกินอาหารแบบคีโตเจนิก คือ เน้นกินไขมัน จุดประสงค์คือต้องการให้ร่างกายรู้ว่าเราตั้งใจกินแต่ไขมันเพื่อให้ร่างกายดึงพลังงานจากไขมันมาใช้แทน นอกจากนี้ร่างกายไม่ค่อยกระตุ้นอินซูลิน แต่หากกินไขมันเยอะเกินไป ร่างกายอาจเผาผลาญไขมันได้แค่ส่วนที่กินเพิ่มเข้าไป ไม่ได้เข้าไปเผาผลาญไขมันออกจากตับ หลอดเลือด หรือพุงที่เป็นไขมันเดิมที่มีอยู่ในร่างกาย ดังนั้นจึงควรกินไขมันให้พอดีกับความต้องการของร่างกาย
- เครียดมากเกินไป
เมื่อเราเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมาเยอะ และอาจทำให้ระบบเผาผลาญหยุดการทำงาน สุขภาพจะแย่ และน้ำหนักจะขึ้นง่าย การลดน้ำหนักจะไม่ได้ผล รวมไปถึงออกกำลังกายหนักเกินไป ทำให้ร่างกายเครียดเกินไปจนลดน้ำหนักไม่ได้ผลเช่นเดียวกัน