10 สัญญาณอันตราย เสี่ยงโรคแพนิค

10 สัญญาณอันตราย เสี่ยงโรคแพนิค

10 สัญญาณอันตราย เสี่ยงโรคแพนิค
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

10 สัญญาณอันตราย เสี่ยงโรคแพนิค เช็กตัวเองกันว่าคุณเครียด ตกใจ กลัว จนอาจกำลังเสี่ยงโรคแพนิคโดยไม่รู้ตัวอยู่หรือเปล่า

โรคแพนิค คืออะไร

หมอมีฟ้า จาก สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า โรคแพนิค เป็นภาวะทางจิตเวชอย่างหนึ่งที่พบได้บ่อย โดยพบได้ 2-5% ของประชากร อย่างไรก็ตาม การมีอาการแพนิคหนึ่งครั้ง (panic attack) ไม่ได้แปลว่ามีโรคแพนิค (panic disorder) เพราะฉะนั้นลองมาดูที่อาการกันว่า แพนิค (ตกใจ กลัว) มากแค่ไหน ถึงเข้าขั้นเสี่ยงเป็นโรคแพนิค

10 สัญญาณอันตราย เสี่ยงโรคแพนิค

ผู้ป่วยโรคแพนิคจะมีอาการทางร่างกายหลายๆ อย่าง (อย่างน้อย 4 อาการ) ขึ้นมา พร้อมๆ กัน ได้แก่ 

  1. ใจสั่น
  2. หัวใจเต้นแรงหรือเร็วมาก
  3. หายใจไม่อิ่ม หายไม่ออก (บางคนจะบอกว่า หายใจไม่เข้า)
  4. รู้สึกอึดอัด แน่นหน้าอก
  5. รู้สึกมึนหัว โคลงเคลง เหมือนจะเป็นลม
  6. เหงื่อแตก
  7. ตัวสั่น
  8. คลื่นไส้ ท้องไส้ปั่นป่วน
  9. มือไม้ชาๆ ซ่าๆ หรือรู้สึกอ่อนแรง
  10. รู้สึกเย็บวาบ หรือ ร้อนวูบ

หากมีอาการแพนิค (panic attack) เพียงครั้งเดียว เช่น ตอนลงทะเลครั้งแรกในการเรียนดำน้ำ ตอนต้องพูดต่อหน้าที่ประชุมใหญ่ แล้วไม่ได้มีอาการอีกซ้ำๆ ไม่มีผลอะไรต่อการใช้ชีวิต ก็ไม่นับว่าเป็นโรคแพนิค (panic disorder)

อาการที่บ่งบอกว่าอาจเสี่ยงโรคแพนิค ต้องเป็นอาการแพนิค ซ้ำๆ โดยที่ไม่ได้เกิดจากยา สารต่างๆ โรค หรือสาเหตุทางกายอื่นๆ เพราะหากเป็นจากเหตุอื่น อาจเป็นอันตรายได้

อันตรายของโรคแพนิค

ในครั้งแรกๆ อาการจะเกิดขึ้นแบบคาดเดาไม่ได้ แต่เมื่ออาการเกิดขึ้นแล้ว ผู้ป่วยมักจะรู้สึกทนไม่ไหว อยากออกจากจุดนั้น ถ้าขับรถก็ต้องจอด บางคนอยากลงจากเครื่องบิน ทำให้มักเกิดความกังวลตามมาว่า จะเกิดอาการแล้วไม่มีใครช่วยได้ หรืออยู่ในจุดที่หนีไม่ได้ เช่น อยู่ในรถสาธารณะแล้วลงไม่ได้ หรือรถติดอยู่บนทางด่วน

ในบางกรณี โดยเฉพาะหากไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยอาจจะเชื่อมโยงอาการกับสถานที่ที่เคยมีอาการ เช่น บันไดเลื่อน ลิฟท์ รถไฟฟ้า แล้วเริ่มมีอาการที่คาดเดาได้ จนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะไม่กล้าออกจากบ้าน ไม่กล้าเดินทาง บางรายมีภาวะซึมเศร้าตามมา หรือ หันไปดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติดเพื่อบรรเทาอาการ แล้วเกิดเป็นอีกปัญหาตามมาเรื่อยๆ

โรคแพนิค อาจเป็นโดยไม่รู้ตัว

ด้วยความที่อยู่ๆ อาการหลายๆ อย่างดังกล่าว ก็เกิดขึ้นมาอย่างฉับพลัน ทำให้ผู้ป่วยมักกลัวว่าจะควบคุมตัวเองไม่ได้ กลัวจะเป็นบ้า หรือกลัวว่าจะตาย (ส่วนใหญ่คิดว่าเป็นโรคหัวใจ) 

อาการต่างๆ มักจะขึ้นถึงจุดสูงสุดใน 10-15 นาที จากนั้นก็จะค่อยๆ เบาลง และมักจะหายไปในเวลาไม่เกินหนึ่งชั่วโมง บางคนมีความเครียด อยู่ในสถานการณ์ที่กดดัน แต่บางรายก็มีอาการขึ้นมาเองได้ จากระบบประสาทออโตโนมิคที่ทำงานผิดปกติ ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกหากผู้ป่วยไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองอยู่ในช่วงที่มีเครียดหรือกังวลอะไร

หากมีอาการแพนิค ควรทำอย่างไร

หากผู้ป่วยมีอาการครั้งแรก ควรรีบไปห้องฉุกเฉิน เนื่องจากมีหลายภาวะที่ทำให้เกิดอาการคล้ายแพนิคได้ เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคปอด โรคธัยรอยด์ อาการนำของโรคลมชัก เป็นต้น 

จำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติมก่อนว่า ไม่ใช่อาการของโรคใดโรคหนึ่ง

นอกจากนี้ สารบางตัวกระตุ้นให้เกิดอาการแพนิคได้ เช่น คาเฟอีนที่มากเกินไป พิษกัญชา อาการถอนจากสารเสพติดหลายชนิด เป็นต้น

วิธีรักษาผู้ป่วยโรคแพนิค

  • ใช้ยา

มีทั้งยาที่กินเพื่อป้องกันและรักษา ได้แก่ 

  • กลุ่มยาลดอาการ กินเฉพาะเมื่อมีอาการเท่านั้น เช่น ยา Benzodiazepine เช่น Alprazolam, Clorazepate, Diazepam เป็นต้น หลังกิน ยาจะค่อยๆ ออกฤทธิ์ภายใน 15-20 นาที
  • กลุ่มยาต้านซึมเศร้า ที่ช่วยให้อาการแพนิคเกิดขึ้นถี่น้อยลง จนค่อย ๆ หายไป รวมทั้งช่วยป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ ผลของการใช้ยาจะค่อยๆ เห็นผลใน 2 สัปดาห์
  • ควบคุมลมหายใจ (Breathing exercise)

เมื่อเริ่มรู้ตัวว่ามีอาการแพนิค สามารถใช้เทคนิคควบคุมการหายใจเข้าออกเพื่อลดอาการแพนิคได้ ดังนี้

  • นั่งพัก ตั้งสติ
  • หายใจเข้าออกช้าๆ ลึกๆ ยาวๆ เหมือนตอนนั่งสมาธิ หรือเล่นโยคะ โดยหายใจออกให้ยาวกว่าหายใจเข้า เพื่อเอาคาร์บอนออกไซด์ออกไปให้หมดก่อน
  • หายใจเข้านับ 1-2-3-4 หายใจออกนับ 1-2-3-4-5-6

เนื่องจากเวลามีอาการ ผู้ป่วยมักจะหายใจเร็ว คือหายใจตื้นๆ ถี่ๆ ซึ่งจะยิ่งทำให้รู้สึกอึดอัดหนักขึ้นไปอีก ผู้ป่วยหลายรายไม่จำเป็นต้องใช้ยาฉุกเฉิน เนื่องจากอาการลดลงไปมากเมื่อหายใจอย่างถูกวิธี

คลิปตัวอย่างการหายใจเมื่อมีอาการแพนิค

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook