3 สาเหตุของโรคไตเรื้อรัง ที่พบได้บ่อยในไทย จากพฤติกรรมใช้ชีวิตผิดๆ

3 สาเหตุของโรคไตเรื้อรัง ที่พบได้บ่อยในไทย จากพฤติกรรมใช้ชีวิตผิดๆ

3 สาเหตุของโรคไตเรื้อรัง ที่พบได้บ่อยในไทย จากพฤติกรรมใช้ชีวิตผิดๆ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดยปกติคนเรามีไต 2 ข้างแต่กำเนิด ซึ่งเป็นอวัยวะที่มีขนาดประมาณกำปั้นอยู่บริเวณบั้นเอวด้านหลัง ไตทำหน้าที่หลักในการขับของเสียต่างๆ ที่อยู่ในร่างกายออกมาทางปัสสาวะ นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่อื่นๆ เช่น ควบคุมปริมาณน้ำ ปรับสมดุลระดับเกลือแร่และความเป็นกรด-ด่างในร่างกาย อีกทั้งยังทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นไขกระดูกให้สร้างเม็ดเลือดแดง ป้องกันโรคโลหิตจาง และป้องกันโรคกระดูกพรุน ซึ่งหากไตทำงานผิดปกติจะนำมาซึ่งภาวะไตวายหรือโรคไตเรื้อรัง พร้อมส่งผลกระทบต่อระบบอื่นๆ ของร่างกายตามมา

โรคไตเรื้อรังเกิดจากอะไร

โรคไตเรื้อรังอาจมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย แต่โดยทั่วไปแล้วสาเหตุหลัก 3 อันดับแรกมักเกิดจาก 

  1. โรคเบาหวาน 
  2. โรคความดันโลหิตสูง
  3. โรคไตอักเสบ 

ส่วนสาเหตุอื่นๆ อาจแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศและทวีป 

สาเหตุของโรคไตเรื้องรัง ที่พบได้บ่อยในไทย

สำหรับประเทศไทย สาเหตุหลักของโรคไตเรื้อรังที่พบมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้อง อย่างเช่น 

  1. การใช้ยาสมุนไพร 
  2. การรับประทานยาแก้ปวดและยาแก้อักเสบเองติดต่อกันเป็นเวลานาน 
  3. การติดรับประทานอาหารรสจัด โดยเฉพาะรสชาติเค็มจัด ทำให้ไตทำงานหนักเกินไปจนเกิดปัญหาไตเสื่อมและกลายเป็นโรคไตเรื้อรังในที่สุด

สัญญาณอันตราย อาการเริ่มต้นของโรคไตเรื้อรัง

น.อ. หญิง พญ. วรวรรณ เผยว่า หากเริ่มสังเกตอาการที่บ่งบอกว่าไตทำงานผิดปกติ เช่น 

  1. สามารถขับปัสสาวะได้น้อยลง ทำให้มีน้ำคั่งอยู่ในร่างกาย ส่งผลให้มีอาการตัวบวม เช่น บริเวณหลังเท้า เมื่อใส่รองเท้าประเภทแตะคีบแล้วมีรอยชัด
  2. มีอาการของเสียคั่งในร่างกาย 
  3. เบื่ออาหาร 
  4. อ่อนเพลีย 
  5. คลื่นไส้อาเจียน
  6. นอนไม่หลับ 

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมาพบแพทย์เมื่อมีอาการแล้ว อาจหมายถึงสภาพของไตนั้นเข้าขั้นวิกฤต 

วิธีรักษาโรคไตเรื้อรัง

ถึงแม้โรคไตเรื้อรังจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เพราะอวัยวะได้เกิดความเสียหายขึ้นแล้วและจะเสื่อมลงจนถึงระยะที่เรียกว่าไตวายระยะสุดท้าย แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลากหลายวิธีในการชะลอการเสื่อมของไตไม่ให้เข้าสู่โรคไตระยะสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็น การควบคุมความดัน คุมน้ำตาลในผู้ป่วยโรคเบาหวาน และคุมอาหาร เช่น ไม่รับประทานอาหารที่มีโปรตีนหรือมีความเค็มมากเกินไป หลีกเลี่ยงการใช้ยาสมุนไพรหรือยาแก้ปวดลดอักเสบเองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ ซึ่งจะทำให้ช่วยยืดระยะเวลาในการเข้ารับการบำบัดทดแทนไตออกไปได้ 

วิธีป้องกันโรคไตเรื้อรัง  

สำหรับคนทั่วไป วิธีป้องกันโรคไตเรื้อรัง คือ

  1. ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีความเค็มมากเกินไป 
  2. ห้ามซื้อยาสมุนไพรหรือยาแก้ปวดมาใช้เองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ 
  3. ควรดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว
  4. ควรเลิกสูบบุหรี่ เพราะนอกจากจะเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปอดแล้ว บุหรี่ยังทำให้เกิดโรคไตวายได้อีกเช่นกัน
  5. ห้ามกลั้นปัสสาวะ เพราะเป็นสาเหตุของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ทำให้เกิดการติดเชื้อบ่อยและส่งผลต่อไต ทำให้ไตเสื่อมและไตวายขึ้นมาได้ 

นอกจากนี้อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การเข้ารับการตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคไตที่โรงพยาบาลอยู่เสมอ ด้วยวิธีการตรวจเลือดเพื่อหาค่าของเสียครีเอตินีน (Creatinine) และการตรวจปัสสาวะเพื่อตรวจหาว่ามีค่าโปรตีนรั่วหรือไม่ ซึ่งมีเพียง 2 วิธีนี้เท่านั้นที่จะสามารถวินิจฉัยและคัดกรองความเสี่ยงของโรคไตเรื้อรังตั้งแต่ระยะเริ่มต้นได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook