อาหารป้องกัน เหน็บชา-ตะคริว ยิ่งกิน ยิ่งดีต่อสุขภาพ
ใครที่เป็นเหน็บชา หรือตะคริวบ่อยๆ กินอาหารเหล่านี้ให้มากขึ้นกันเถอะ ช่วยได้จริงๆ
อาการเหน็บชา และตะคริว เป็นอาการผิดปกติของร่างกายชั่วครั้งชั่วคราว ไม่อันตรายมากนัก แต่อาจก่อให้เกิดความเจ็บปวดในบางช่วงบางจังหวะที่อาจสร้างความรำคาญ หรือความลำบากให้กับผู้ที่เป็นอยู่บ้าง แต่จะทวีความรุนแรงถึงชีวิตได้หากเกิดอาการในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เช่น เป็นเหน็บชาที่ขาขณะขับรถ หรือเป็นตะคริวในขณะว่ายน้ำ เป็นต้น
อาหารป้องกัน เหน็บชา
นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ และ ดร.ศรีวัฒนา ทรงจิตสมบูรณ์ โรงพยาบาลศิครินทร์ กรุงเทพ ระบุว่า อาการเหน็บชา อาจสัญญาณเตือนของโรคบางอย่าง เช่น เบาหวาน พิษสุราเรื้อรัง รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น เหน็บชาจากกรรมพันธุ์ การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา และผู้ที่เจ็บป่วยเรื้อรังเป็นเวลานาน แต่โดยทั่วไปอาจเกิดจากการขาดวิตามินบี 1 หรือ ไธอามีน (Thiamine)
ดังนั้น การกินอาหารที่มีวิตามินบี 1 หรือ ไธอามีน (Thiamine) ก็ จะช่วยลดอาการเหน็บชาลงได้ เช่น
- ข้าวซ้อมมือ
- ไข่แดง
- เนื้อสัตว์
- นม
- ถั่ว
- โยเกิร์ต
- น้ำส้ม
- น้ำมะเขือเทศ
- ธัญพืชเปลือกบาง
นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำลายวิตามิน เช่น ปลาร้า หมาก พลู ชา หอยแมลงภู่ หอยกาบ กุ้งดิบ เนื้อสัตว์ดิบ และปลาน้ำจืดบางชนิด เพราะมีเอนไซม์ Thiaminase ที่ลดการดูดซึมไธอามีน
อาหารป้องกัน ตะคริว
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ระบุว่า สาเหตุการเกิดอาการตะคริวไม่ทราบแน่ชัด แต่มักเกิดจากการใช้กล้ามเนื้อมากเกินไป การออกกำลังกายที่ใช้แรงหรือออกกำลังกายติดต่อกันนานๆ เช่น วิ่งทางไกล ว่ายน้ำ เล่นกีฬา หรือเกิดจากภาวะเกลือแร่ เช่น โซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม ในเลือดต่ำ ภาวการณ์ตั้งครรภ์ร่างกายขาดแคลเซียม หรือการใช้ยาขับปัสสาวะ ยาขยายหลอดลม ก็ส่งผลต่อการเกิดตะคริวได้
อาหารที่มีโพแทสเซียม และสารอาหารอื่นๆ ที่ช่วยลดความเสี่ยงตะคริว มีดังนี้
- กล้วย ไม่ว่าจะเป็นกล้วยน้ำว้า กล้วยหอม กล้วยไข่ (ควรเลือกรับประทานกล้วยน้ำว้าห่าม ที่มีรสฝาด ออกหวาน จะช่วยบำรุงร่างกาย เนื่องจากกล้วยห่าม มีแคลเซียม แมกนีเซียม และโพแทสเซียมสูง สรรพคุณช่วยชดเชยโพแทสเซียมแก่ร่างกาย มีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของระบบประสาทและการหดตัวของกล้ามเนื้อ)
- มะเขือเทศ
- ส้ม
- แคนตาลูป
- นม
- ปลาเล็กปลาน้อยที่รับประทานก้างได้
- ถั่ว
- น้ำมันพืช
เป็นต้น
นอกจากนี้ ควรดื่มน้ำมากๆ งดการดื่มแอลกอฮอล์ และคาเฟอีน หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรือออกกำลังกายหนักเกินไป แต่ก็ยังควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะตะคริวมักเกิดในผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอหรือคนที่ขาดการออกกำลังกาย และควรฝึกยืดเหยียดกล้ามเนื้อในบริเวณที่มักเป็นตะคริวอยู่บ่อยๆ จะช่วยลดโอกาสการเกิดตะคริวได้