สาเหตุของ "นิ้วล็อก" และวิธีลดอาการปวดนิ้วด้วยตัวเอง
นิ้วล็อก (Trigger finger) เป็นความผิดปกติของปลอกหุ้มเส้นเอ็นฝั่งกำมือ ที่มีการอักเสบ และเมื่อเรื้อรัง จะทำให้เป็นพังผืดขึ้น โดยปกติหน้าที่ของปลอกนี้จะมีเส้นเอ็นสไลด์ผ่าน เมื่อมีการเคลื่อนไหวกำหรือเหยียดมือ รวมถึงการใช้มือทำกิจวัตรต่างๆ ด้วยเนื่องจากมือเราต้องมีการเคลื่อนไหวและใช้งานค่อนข้างบ่อย เมื่อมีการอักเสบก็มักเรื้อรังเกือบทุกราย ซึ่งการเป็นนิ้วล็อกนั้น จะมีระยะของการบาดเจ็บอยู่ ตั้งแต่เริ่มอักเสบเพียงเล็กน้อย เริ่มมีอาการเจ็บตรงบริเวณโคนข้อนิ้วใดนิ้วหนึ่งหรืออาจหลายนิ้ว เวลากำมือ แล้วเหยียดไม่ออกจะรู้สึกดังตึกๆ ที่โคนนิ้วนั้น อาจจะเจ็บแปล็บๆ แต่ยังเหยียดได้ และอาจเป็นระยะที่มีการอักเสบจากการบาดเจ็บซ้ำๆ จนบวม แดง ร้อน และขยับกำเหยียดมือได้ลำบาก เพราะถ้าเป็นระยะนี้จะเจ็บมาก บางเคสอาจเรื้อรังและเป็นพังผืดหนาตัวมาก จนกำแล้วเหยียดไม่ออกเลย
ส่วนใหญ่หากอาการยังไม่เรื้อรังมาก ก็สามารถจะรักษาได้ แต่หากเรื้อรังมีอาการปวดตลอดเวลา ทำอย่างไรอาการก็ไม่ทุเลา มีบวม ร้อน ขยับมือไม่ได้ จำกัดการใช้งานในชีวิตประจำวันก็แนะนำให้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรักษาที่เหมาะสมต่อไป
สาเหตุของนิ้วล็อก
ทั้งนี้ คุณเพ็ญพิชชากร แสนคำ นักกายภาพบำบัดจาก คลินิกกายภาพบำบัดอริยะ ชั้น 1 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี) ได้มาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดนิ้วล็อก เกิดจากการใช้งานที่ต้องใช้มือซ้ำๆ ไม่ว่าจะเป็นทำงานบ้าน ซักผ้า กวาดถูบ้าน พิมพ์งาน หิ้วของ หรือแม้แต่การที่กระดูกสันหลังค่อม ไหล่งุ้ม คอยื่น ซึ่งเป็นท่าทางที่ทำให้กล้ามเนื้อและเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อด้านหน้าหัวไหล่ หน้าอก มีการหดรัด จำกัดการไหลเวียนของเลือดของเส้นประสาท ทำให้การทำงานของกล้ามเนื้อที่แขนและมือไม่คล่องตัว ฝืด นานเข้าจึงทำให้เกิดพังผืดที่ปลอกหุ้มเอ็นที่มือได้ สำหรับการดูแลนิ้วล็อกเบื้องต้นมีข้อแนะนำดังนี้
- การแช่น้ำอุ่นหรือน้ำเย็น หากในระยะที่บวมแดง และปวดรุมๆ ควรแช่น้ำเย็นเพื่อบรรเทาอาการปวดและอักเสบ
แต่หากไม่มีอาการบวม ไม่ปวด แต่รู้สึกตึงเวลาที่กำแล้วเหยียดไม่ออก ให้แช่น้ำอุ่นเพื่อให้เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อในมือคลายตัว เวลาขยับจะได้คล่องขึ้น - การยืดกล้ามเนื้อ และเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อแขนและหน้าอก
ยืนข้างผนังประมาณ 1 ช่วงแขน ยกแขนข้างที่มีอาการ วางมือทาบลงผนัง ก้าวขาไปด้านหน้า ประมาณ 1 ก้าว
วางเท้าให้เท่าสะโพก ปลายเท้าชี้ไปทางด้านหน้า ออกแรงใช้ฝ่ามือกดลงบนผนังเบาๆ แขม่วท้องแล้วบิดตัวและสะโพกไปฝั่งตรงกันข้าม หายใจเข้า-ออก ประมาณ 2 ลมหายใจ แล้วบิดตัวกลับ
ทำซ้ำ ประมาณ 3- 5 ครั้ง แล้วค่อยๆ วางมือลง
หากการดูแลตัวเองทั้ง 2 ข้อข้างต้น ทำให้อาการเบาลง ก็ถือว่าเป็นระยะที่สามารถรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัดได้ และหากได้รับการปรับโครงสร้างร่างกาย ซึ่งเป็นการปรับสมดุลให้โครงสร้างกระดูกสันหลังอยู่ในแนวโค้งที่ถูกต้อง ส่งเสริมให้การไหลเวียนของระบบเส้นประสาท เลือด น้ำเหลืองไปยังส่วนต่างๆ ได้ดี การทำงานของกล้ามเนื้อแขนและมือก็ทำงานได้คล่องแคล่ว แก้อาการนิ้วล็อกและป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำได้
แต่หากการดูแลตัวเองเบื้องต้นไม่ได้ทำให้บรรเทาอาการลงเลย อาจต้องปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อหาแนวทางรักษาที่เหมาะสมต่อไป เพราะหากให้เรื้อรังมากก็ยิ่งมีการทำลายเส้นเอ็นมากขึ้นเรื่อยๆ การรักษาก็จะยิ่งยากและเสียเวลามากขึ้นด้วย